Changemaker Fund

image

Changemaker Fund คืออะไร

“กองทุนสำหรับนักเปลี่ยนแปลง” เป็นกองทุนถาวรสะสม (Endowment Fund)  ที่ School of Changemakers จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเงินทุน ให้กับก้าวแรกของนักสร้างความเปลี่ยนแปลง (Changemakers) ที่สนใจริเริ่มโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคม ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สิทธิความเท่าเทียม หรือการมีส่วนร่วม

กองทุนนี้เป็นการพยายามที่จะสร้างความยั่งยืนในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ด้วยการระดมทุนสะสมระยะยาว และนำผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) มาสนับสนุนโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคม โดยจะบริหารจัดการเงินต้นของกองทุนตามความเสี่ยงอย่างเหมาะสมด้วยบริษัทจัดการเงินทุนมืออาชีพ

ความสำคัญของก้าวแรกของนักสร้างความเปลี่ยนแปลง

จากการสำรวจคนรุ่นใหม่ เราพบว่ากว่า 90% อยากมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสังคม แต่ 70% ยังไม่ได้เริ่มต้นทำ หนึ่งในสาเหตุหลัก คือ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ขาดความรู้ เพื่อทำความเข้าใจปัญหา การสร้างความยั่งยืน ไปจนถึงเครือข่ายและเงินทุนสนับสนุน

ซึ่งเป็นสิ่งที่ School of Changemakers เข้ามาช่วยในการลดช่องว่างเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายหลักในการช่วยผลักดันให้เกิดนักเปลี่ยนแปลงจำนวนมากขึ้น

ในการสนับสนุนก้าวแรกของนักเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เราได้รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อสามารถให้คำปรึกษา ช่วยสร้าง platform ไปจนถึงร่วมพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อคนที่สนใจได้ศึกษา ไปสู่การทดลองทำ และมองหาช่องทางในการเข้าถึงทรัพยากรในการขยายผล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่น แรงบันดาลใจและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ของว่าที่นักเปลี่ยนแปลง ว่าทุกคนมีศักยภาพมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มต้นที่ตนเอง

ทั้งนี้การสนับสนุนนักเปลี่ยนแปลงของ School of Changemakers เกิดจากการออกแบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย องค์กรภาคสังคม และภาคเอกชน โดยให้การสนับสนุนหลักแบ่งออกเป็น 4 ด้าน

  1. ทรัพยากร เช่น เงินทุน/สถานที่  
  2. เครื่องมือ และความรู้ต่างๆ
  3. โค้ช ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
  4. ชุมชนเหรือเครือข่ายนักเปลี่ยนแปลง

เรื่องราวของ Changemakers ที่ผ่านก้าวแรกไปกับเรา

เส้นทาง 10 ปี ของกลุ่มนักศึกษาทำโปรเจกต์สู่ เจ้าของธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve

ก้าวแรกของ a-chieve เกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ 4 คนที่จบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยากลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการเห็นปัญหาของน้องชายที่กำลังขึ้น ม.4 แต่ไม่สามารถเลือกสายการเรียนได้ เพราะไม่รู้ว่าอยากจะไปเรียนต่อคณะอะไร และจบไปอยากทำงานอะไร  พวกเขาจึงเริ่มต้นทำโครงการที่จะช่วยให้ “เด็กมัธยมของไทยไม่สามารถตัดสินใจวางแผนการเรียน และตัดสินใจเลือกอาชีพในอนาคตของตนเองได้อย่างมั่นใจ”

image

วันนี้กลุ่มนักศึกษาที่เริ่มต้นทำโครงการในวันนั้นเดินทางจนมาถึงปีที่ 10 a-chieve ต่อยอดโครงการจนเป็น ธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีวิสัยทัศน์ว่า

”อยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ทุกคนสามารถค้นพบตัวตน เห็นคุณค่าในตัวเอง ออกแบบเส้นทางชีวิต และไปต่อด้วยตัวเองได้อย่างแข็งแรง ทั้งวิธีคิดและจิตใจ”

พวกเขาได้สร้างระบบ Ecosystem ของการแนะแนวให้เด็ก ๆ กว่า 22,000 คน ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายพี่ต้นแบบอาชีพ เครือข่ายครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ กิจกรรมแนะแนวอาชีพ ฐานข้อมูลอาชีพ หลักสูตรเครื่องมือแนะแนว และเครือข่ายอาสาสมัคร

5 ปี จากนักศึกษาที่สนใจปัญหาคนพิการทางสายตา The Guide light สู่ CEO Vulcan Coalition

ก้าวแรกของ The Guidelight เกิดจาก คำถามว่า “เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้นักศึกษาที่บกพร่องทางการมองเห็นเรียนจบและมีงานทำ” จูนสนใจปัญหาของผู้พิการทางสายตา เพราะมีทั้งเพื่อนและรุ่นพี่ที่ตาบอดต้องพยายามอย่างหนักมากในการเรียนมหาวิทยาลัย และเริ่มต้นค้นหาปัญหาเชิงลึก

ก้าวแรกของ The Guidelight  ได้รับทุนสนับสนุนจาก กระทรวงพัฒนาสังคมและ Ashoka Thailand เพื่อทดลองไอเดียแรก ระหว่างทางมีการปรับวิธีการแก้ปัญหาตามข้อมูลเชิงลึกที่ค้นพบระหว่างทาง พร้อมกับหาโอกาส (Opportunity) และช่องว่าง (Gap) จนได้พบมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และมองเห็นโอกาสการใช้กฏหมายมาตรา 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการสามารถจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการคนพิการโดยวิธีกรณีพิเศษ จึงคิดไอเดียต่อยอดจากโครงการรุ่นพี่ติวรุ่นน้อง เสนอโครงการจ้างเหมาบริการทำสื่อการเรียนเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการ โดยมีบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุน  ทำให้น้องๆ มีรายได้ระหว่างเรียน 9,000 บาทต่อเดือน

image

ระหว่างเส้นทางของ The Guidelight นอกจากได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและโค้ช จาก School of Changemakers  แล้วยังได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อทดลองไอเดียแก้ไขปัญหาที่พบตามข้อมูลเชิงลึกในทุกๆ ก้าว เช่น สสส. กสศ.

จากนักศึกษาที่สนใจปัญหาคนพิการทางสายตา ปัจจุบันจูนได้ต่อยอดการทำโครงการ The Guide light สู่การเป็น CEO Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีหน่วยงานและองค์กว่า 60 เจ้า มาร่วมสร้างงานให้คนพิการ มากกว่า 600 คน ให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 9,000 บาท

การจัดตั้งกองทุนสำหรับนักเปลี่ยนแปลงจึงเป็นความมุ่งหวังของพวกเราที่อยากจะสนับสนุนคนที่กำลังเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลง ในด้านทรัพยากร “เงินทุน” เพื่อให้พวกเขาได้เริ่มต้นลงมือทำโครงการที่เป็นต้นทางในการสร้างผลกระทบทางสังคมต่อไปในอนาคต

วันนี้เป็นก้าวแรกของพวกเราที่จะเริ่มต้นทำความหวังให้เกิดขึ้นจริง เราจึงอยากชวนนักสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของเรา มาร่วมสร้างความหวังนี้ให้เกิดขึ้นจริงไปด้วยกัน

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนได้ที่อีเมลด้านล่างนี้👇🏻

[email protected]