Fund for Kids 2 : กิจกรรมระดมทุน สร้างลานเล่น สร้างโอกาสการเติบโตที่สมบูรณ์ของเด็กๆ ในชุมชนห่างไกล

Fund for Kids 2 : กิจกรรมระดมทุน สร้างลานเล่น สร้างโอกาสการเติบโตที่สมบูรณ์ของเด็กๆ ในชุมชนห่างไกล

image
image

Fund for Kids

โรงเล่นเปิดระดมทุนจากผู้ที่สนใจสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นให้เด็กๆ เพราะเราอยากให้เด็กๆ เข้าถึงพื้นที่เล่นภายใน 15 นาทีเด็กๆ และครอบครัวมีพื้นที่ปลอดภัย ใกล้บ้าน ได้มาเล่น ทำกิจกรรมด้วยกันเพราะการเล่น สำคัญต่อการเติบโต พวกเขาจะเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น ได้บ่มเพาะคุณลักษณะเชิงบวก วินัยเชิงบวกผ่านการเล่น เพราะเด็กที่เล่นมากๆ สามารถปรับตัว ยืดหยุ่น ยอมรับความหลากหลายเข้าใจกติกาสังคมมากกว่าเด็กที่ขาดการเล่น

2541-โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

บริษัท เล่นด้วยสติ จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม เติบโตมาจาก โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ที่เป็นพื้นที่เล่น-เรียน โดยเปิดให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะ ศักยภาพ และกล้าคิดฝัน ในพื้นที่ปลอดภัยที่มีผู้ใหญ่โอบอุ้มด้วยความรักมานานกว่า 25 ปี ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ. เชียงราย

2566-ทดสอบโมเดลขยายลานเล่นไป 5 ชุมชน

ในปี 2566 ที่ผ่านมา เราได้นำต้นทุนสะสมตลอด 24 ปี ถอดเป็นโมเดลบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ที่ชื่อว่า “ลานเล่น Network พื้นที่บ่มเพาะความผูกพันธ์” และได้ทดลองขยายโมเดลต้นแบบนี้ ไปยังชุมชน 5 แห่งในภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง) โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการเติบโตของเด็ก สร้างความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองของชุมชนผ่านการเล่นและการจัดนิเวศการดูแลและพัฒนาเด็ก

หัวใจสำคัญของลานเล่น Networkคือ เราใช้กระบวนการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจ เห็นความสำคัญของการเติบโตของเด็กสร้างความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของลานเล่น 5 พื้นที่นี้ คือ ลานเล่นทุกแห่งพร้อมให้เด็กๆ เข้าไปเล่นได้ในทุกๆ วัน เพราะอาศัยการดูแลร่วมกันของคนในชุมชน ทุกวันจึงมีเด็กเข้าไปเล่นในลานเล่นโดยเฉลี่ย 15 คนต่อวันต่อลานเล่น สูงสุดที่ 50 คนต่อวันต่อลานเล่น

image

2567-ระดมทุนขยายลานเล่นไปอีก 5 ชุมชน

ในปีนี้เรามีความตั้งใจจะขยาย “โมเดลลานเล่น Network พื้นที่บ่มเพาะความผูกพันธ์” นี้ไปในอีก 5 ชุมชนทางตอนเหนือ ที่มีเด็กอาศัยอยู่กว่า 3,000 คน เราจึงเปิดระดมทุนในนาม บริษัท เล่นด้วยสติ จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ในชุมชน ที่ชุมชนสร้างเอง ดูแลเอง ที่จะบ่มเพาะความผูกผัน สร้างโอกาสการเติบโตที่สมบูรณ์ของเด็กๆ ในชุมชนในภาคเหนือได้แก่

1. กลุ่มละอ่อน HOME ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา : กลุ่มคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ไม่มีความรู้ในการทำลานเล่นต้องการพัฒนาทีมและสร้างพื้นที่สำหรับเด็ก มีเด็กในพื้นที่ปัจจุบัน ( อายุ 0-7 ปี ) 353 คน

2. สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี บ้านปางมะโอ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ : ทีมสถานีอนามัยทำงานร่วมกับคณะทำงานพัฒนาเด็กและครอบครัว (CFT) ที่มีความต้องการลานเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กต่อเนื่องหลังคลอด จาก 1,000 วัน (3 ขวบ) เป็น 2,500 วัน (7 ขวบ) มีเด็กในพื้นที่ปัจจุบัน ( อายุ 0-7 ปี ) 863 คน

3. เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา ตำบลทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน : นักพัฒนาเอกชนด้านเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับเครือข่ายชุมชน ต้องการเปิดวัดให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กและคนทุกวัย เจ้าอาวาสมุ่งมั่น ทำหน้าที่ประสานงาน ร่วมกับกรรมการวัดและชุมชน มีเด็กในพื้นที่ปัจจุบัน ( อายุ 0-7 ปี )109 คน

4. เทศบาลตำบลเวียงสรวย ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย : นักวิชาการเทศบาลและรองปลัด รับนโยบายจากนายกเทศมนตรี ที่สนใจการพัฒนาทุนมนุษย์และการมีส่วนร่วมของชุมชน มีเด็กในพื้นที่ปัจจุบัน ( อายุ 0-7 ปี ) 508 คน

5. เทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน : กองการศึกษาเทศบาล เจ้าอาสวัด กรรมการหมู่บ้าน ต้องการหนุนให้ สภาเด็กและเยาวชนตำบล นำการพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านการทำลานเล่น ใน พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน มีเด็กในพื้นที่ปัจจุบัน ( อายุ 0-7 ปี ) 918 คน

image