LSI Sharing of August ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนสิงหาคม
- LSI Sharing of August ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนสิงหาคม
- Highlight of the Month:
- ทีมไร่ลุงรัง: ท้าทายตัวเองด้วยการตัดสินใจทดสอบไอเดียใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน
- ทีมบ้านไร่อุทัยยิ้ม: การทำงานร่วมกันกับโค้ชบน Miro อย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ
- Knowledge Sharing of the Month:
- การพัฒนาเครื่องมือ (Tool) เพื่อการขยายผลพื้นที่เรียนรู้ ทำอย่างไร?
- Update of the Month:
- Team Visit ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดบ้านโสนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง จังหวัดศรีสะเกษ
- Soft Opening ณ ‘บ้านลานเล่น’ ของทีม Len La Learn
- อ่าน LSI Sharing of the month ของเดือนอื่น ๆ
Highlight of the Month:
เรื่องราวน่าประทับใจจากโปรแกรม Learning Space Incubation
ทีมไร่ลุงรัง: ท้าทายตัวเองด้วยการตัดสินใจทดสอบไอเดียใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน
ไร่ลุงรัง คาเฟ่และฟาร์มออร์แกนิก ในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีจุดเริ่มต้นจากลุงรังมีความตั้งใจสร้างพื้นที่รอบคาเฟ่ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ในวัย 3-10 ปีได้เรียนรู้และสัมผัสกับธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง แมลง ปู ปลา ในท้องทุ่ง ได้ลงมือทําและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เน้นความสนุกสนาน ผ่านผู้อํานวยการเล่นที่จะนําให้เด็กได้เล่นตามกระบวนการและส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย
โปรแกรม Learning Space Incubation 2023 ในช่วงนี้ อยู่ในช่วงของการเตรียมตัวสำหรับงาน Prototype Testing Learning Space ในวันเสาร์ที่ 16 กันยายนนี้ โดยในตอนแรก ทีมไร่ลุงรังตั้งใจจะนำตัวต้นแบบคู่มือการจัดกิจกรรมและตัวกิจกรรมมาทดสอบในงานกับกลุ่มผู้ปกครอง ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทีมทำมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเป้าหมายนี้อยู่แล้ว และมีผลลัพธ์ที่ดีออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทดสอบซ้ำแล้ว
โค้ชและทีมจึงพูดคุยปรึกษากันถึงโจทย์ใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม นั่นก็คือ “เราจะขยายผลกระทบทางสังคมของเราออกไปให้กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้อย่างไร” โดยกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ทีมเลือกที่จะทดสอบและทำงานด้วยคือ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” และพัฒนาตัวต้นแบบใหม่ที่จะนำมาทดสอบในงานคือ “ชุดเครื่องมือสำหรับการเล่นกับธรรมชาติในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” นับว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญสำหรับทีมไร่ลุงรัง ในการที่เลือกที่จะคิดและพัฒนาชุดเครื่องมือใหม่ รวมถึงเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลดีกับทีมพื้นที่เรียนรู้เองอย่างแน่นอนในเส้นทางการขยายผลกระทบของตัวเอง School of Changemakers ก็ขอเป็นกำลังใจและพร้อมสนับสนุนอยู่ตลอดเส้นทางนี้
ทีมบ้านไร่อุทัยยิ้ม: การทำงานร่วมกันกับโค้ชบน Miro อย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ
บ้านไร่อุทัยยิ้ม เป็นพื้นที่เรียนรู้ 3 จังหวัดริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี มีจุดเริ่มต้นจากป้าโก้และลุงเบ้ที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิธีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ขมุ และกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆ เขตอนุรักษ์ฯ จึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเยาวชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ วัย 15-25 ปี ให้ตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายทางทรัพยากรและภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้สามารถแปลงคุณค่านี้ให้กลายเป็นมูลค่าได้ จนกลายเป็นฐานรากของชุมชนที่จัดการตนเองได้
ในการเข้าร่วมโปรแกรม Learning Space Incubation 2023 ในครั้งนี้ ทีมบ้านไร่อุทัยยิ้มได้จับคู่กับโค้ชเฟรนด์ในการทำงานร่วมกัน และเนื่องจากทีมบ้านไร่ฯ ทำงานมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และเคยเข้าโปรแกรมกับทาง School of Changemakers มาแล้วในปีที่แล้ว ทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลจากทั้งทีมบ้านไร่ฯ และทีม SOC จำนวนมากให้โค้ชเฟรนด์ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานระหว่างทีมและโค้ชเลย เนื่องจากทั้งทีมและโค้ชได้ใช้ Miro ในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ในการถาม-ตอบกันทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการนัดประชุมกันในทุกครั้ง เพื่อให้เกิดการสื่อสารข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Post-it หลากสีเพื่อแบ่งอย่างชัดเจนว่า ข้อความไหนเป็นข้อความของใคร เช่น Post-it สีดำจะเป็นคอมเมนต์จากทีม School of Changemakers ส่วน Post-it สีเหลืองจะเป็นจากทีมบ้านไร่อุทัยยิ้ม และ Post-it สีอื่นๆ จะเป็นคอมเมนต์จากโค้ชเฟรนด์
การใช้ Miro ในการสื่อสารทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประชุมร่วมกันของโค้ชและทีม ถือว่าเป็นตัวช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เว้นว่างระหว่างการประชุมกันของโค้ชและทีม นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดเวลาในการประชุมกันอีกด้วย เพราะในหลายๆ ประเด็นก็สามารถสื่อสารและถาม-ตอบกันได้เสร็จใน Miro เลย
Knowledge Sharing of the Month:
ข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน
การพัฒนาเครื่องมือ (Tool) เพื่อการขยายผลพื้นที่เรียนรู้ ทำอย่างไร?
เมื่อการทำงานพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ดำเนินงานมาจนถึงขั้นตอน ‘ขยายผล (Scale)’ แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำในขั้นตอนนี้คือการ ‘ถอดบทเรียนและขั้นตอนการทำงาน’ เพื่อพัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือหรือคู่มือที่จะสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ หรือพื้นที่เดิมแต่เป็นวงกว้างมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นตัวช่วยทุ่นแรงให้เรา โดยเราไม่จำเป็นต้องไปลงมือทำเองอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราก็สามารถที่จะส่งต่อสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ให้กับคนอื่นๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น!
What are Tools?
เครื่องมือ (Tool) คือ ตัวช่วยการเรียนรู้ ที่ออกแบบมาให้ผู้เรียนได้ใช้ทำความเข้าใจแนวคิด ไอเดีย หรือกระบวนการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยให้ผู้เรียนได้คิด วางแผน หรือตัดสินใจไปทีละขั้น
ชุดเครื่องมือ (Toolkit) คือ ชุดของเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ พัฒนา วางแผนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
How to Design Tools?
ขั้นตอนแรกในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือคือ การตั้งต้นให้ถูกต้อง มีหลักการ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยการถามตัวเองด้วย 7 คำถามนี้ ได้แก่
- กลุ่มเป้าหมายที่จะใช้งานเครื่องมือคือใคร — ต้องชัดเจนและเฉพาะเจาะจง เช่น คุณครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในสังกัดสพฐ. ที่ใช้วิธีการสอนแบบ Project-Based Learning (PBL) เพราะยิ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัด เราก็จะยิ่งออกแบบเครื่องมือได้ตรงใจและง่ายต่อกลุ่มเป้าหมายเรามากยิ่งขึ้น
- เครื่องมือนี้จะไปช่วยกลุ่มเป้าหมายเรื่องอะไร — ระบุจุดประสงค์ของเครื่องมือนี้ เช่น จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายคิดโปรเจกต์ได้ หรือช่วยให้แยกขยะเป็น หรือช่วยให้ใช้สีน้ำแสดงอารมณ์ได้ เป็นต้น
- เราไปยุ่งอะไรกับชีวิต ประสบการณ์ หรือการเรียนรู้อะไรของกลุ่มเป้าหมายบ้าง เช่น การแสดงตัวตน การริเริ่มโปรเจกต์ การออกแบบค่าย เป็นต้น
- กลุ่มเป้าหมายมีปัญหาอะไรอยู่หรือมีความต้องการอะไร — จากข้อ 3 เมื่อเรารู้แล้วว่า เราจะไปยุ่งเกี่ยวในส่วนใดของกลุ่มเป้าหมาย เราต้องตอบให้ได้ว่า เครื่องมือนี้จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอะไรให้กลุ่มเป้าหมายหรือเข้าไปตอบความต้องการอะไร
- เป้าหมายของเครื่องมือคืออะไร — เมื่อเราเข้าใจข้อ 3 และ 4 แล้ว รู้แล้วว่า ความลำบากในชีวิตกลุ่มเป้าหมายของเราคืออะไร ต่อไป เราจะระบุเป้าหมายของเครื่องมือได้ว่า “เครื่องมือจะช่วย...” และคิดต่อไปอีกด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายจะนำเครื่องมือไปใช้งานได้ตอนไหนและอย่างไร โดยคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น เวลา การเงิน ครอบครัว
- เราทำเครื่องมือนี้ทำไม — กลับมาดูตัวเองอีกครั้งว่า การทำเครื่องมือนี้จะตอบโจทย์ขององค์กรเราหรือไม่ ถ้าเครื่องมือนี้ไม่ได้ตอบโจทย์หรือเป้าหมายขององค์กรของเรา ก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าทำแล้ว เกี่ยวข้องกับการขยายงาน การหาเงิน การจัดการความรู้ ก็ระบุลงไปให้ชัดเจน
- สรุปแล้ว เป้าหมายและบริบทของเครื่องมือคืออะไร — คำถามสุดท้ายนี้คือ การกลับมาระบุเป้าหมายและบริบทในการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือของเราอีกครั้ง หลังจากเราได้คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย ปัญหา/ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงเป้าหมาย/ความต้องการขององค์กรเราเองแล้วด้วย เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนการออกแบบเครื่องมือ
ตัวอย่างจากโปรแกรม Insight Tanks ของ School of Changemakers
ที่มาของโปรแกรม: School of Changemakers ทำงานสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ริเริ่มทำโครงการเพื่อสังคม และเราเห็นว่าการริเริ่มโปรเจกต์ ส่วนที่ยากคือ การทำความเข้าใจปัญหา โปรเจกต์ที่ดีต้องใช้เวลานานมาก (6-12 เดือน) ในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เจอข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่จะช่วยให้เห็นโอกาสในการทำน้อย ใช้ทรัพยากรจำนวนน้อย แต่แก้ปัญหาได้มาก
School of Changemaekrs จึงตั้งโจทย์ว่า เราจะทำอย่างไรให้เวลาในการทำความเข้าใจปัญหาลดน้อยลง เพื่อจะได้ลงมือทำโปรเจกต์ได้เร็วขึ้น ไม่หลุด/เลิกล้มความตั้งใจไปก่อน และได้ข้อมูลเชิงลึกมาทำโปรเจกต์ดีๆ คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ลงไป จึงเกิดเป็นโปรแกรม Insight Tanks ที่ใช้เวลา 6 สัปดาห์ในการทำความเข้าใจปัญหาและหาข้อมูลเชิงลึก
เมื่อเรามีเป้าหมายและบริบทของเครื่องมือที่ชัดเจนแล้ว สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในการออกแบบเครื่องมือในขั้นตอนต่อไป ประกอบไปด้วย 4 สิ่ง ได้แก่
- บริบทของเครื่องมือ
- องค์ประกอบของเครื่องมือ
- รูปแบบการเรียนรู้ 7 รูปแบบ: การทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเหมาะกับรูปแบบใด จะทำให้เราวางเนื้อหาได้ว่า เครื่องมือของเราควรจะเป็นแบบไหนมากน้อยต่างกัน เช่น เด็กรุ่นใหม่ ไม่ชอบอ่าน ควรมี Audio/Visual ประกอบด้วย
- ประเภทการเรียนรู้ 6 ประเภท
ตัวอย่างการออกแบบเครื่องมือ Insight Tanks
เมื่อเรามี Framework ในการพัฒนาเครื่องมือที่ชัดเจนแล้วจากคำถามทั้ง 7 ข้อ และได้คำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง 4 อย่างอย่างครบถ้วนแล้ว การลงมือออกแบบเครื่องมือก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะเรามีกรอบแนวคิดไว้ยึดตลอดระยะทางการพัฒนาเครื่องมือของเรา ที่ได้พัฒนามาจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
Update of the Month:
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโปรแกรม Learning Space Incubation
Team Visit ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดบ้านโสนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง จังหวัดศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 ทีมงาน School of Changemakers พร้อมกับโค้ชประจำทีมบางส่วนได้ลงพื้นที่ไปที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อไปเยี่ยมชมและพูดคุยกับทีมพื้นที่เรียนรู้ฯ ในโครงการบ่มเพาะฯ ของเราจำนวน 2 ทีม ได้แก่ ทีมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง และทีมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโสน
ทั้ง 2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่างเห็นความสำคัญของ “การเล่นอิสระ (Free Play)” ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ ในระดับปฐมวัยได้เติบโตและมีพัฒนาการอย่างสมวัย ได้ฝึกทักษะและความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ อีก 1 ประโยชน์ที่สำคัญของการเล่นอิสระที่ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้เห็นผลประจักษ์ด้วยตนเองคือ การที่เด็กๆ ไม่ร้องไห้เมื่อต้องมาโรงเรียน/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่กลับรู้สึกอยากมา เพราะจะได้มา “เล่น”
Soft Opening ณ ‘บ้านลานเล่น’ ของทีม Len La Learn
เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 ทีม Len La Learn ได้จัดกิจกรรม “เวทีระดมความคิดเห็น การสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา ในพื้นที่เกาะสมุย” โดยได้ใช้พื้นที่เนิร์สเซอรี่เก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาประยุกต์กลายเป็น “บ้านลานเล่น”
กิจกรรมเชิญชวนคุณครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ จำนวนกว่า 20 คน มาพูดคุย ทำความรู้จัก และและเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในประเด็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้ฯ ซึ่งคุณครูทุกท่านให้การตอบรับดีมาก ได้แรงบันดาลใจ และตั้งใจจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเริ่มต้นทำในพื้นที่ของตนเองทันที
หลังจากนี้ ทีม Len La Learn จะมุ่งพัฒนาพื้นที่บ้านลานเล่นให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบ 1 พื้นที่เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนระดับประถมศึกษานำไปประยุกต์ใช้กับโรงเรียนของตนเองได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น