Prototype : วิธีแปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างแบบติดจรวด

image

หลายคนคงเคยมีไอเดียอยากแก้ปัญหาสังคม แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน ไอเดียไหนเวิร์ค ไอเดียไหนไม่เวิร์ค นั่งจินตนาการอยู่แค่ในความคิดหรือที่หน้าจอก็คงไม่มีทางได้คำตอบที่ตามหา สิ่งที่จะช่วยเราตัดสินใจว่าไอเดียไหนจะอยู่ ไอเดียไหนจะไป คือการเปลี่ยนไอเดียตรงหน้าให้จับต้องได้ ขั้นตอนนี้มีชื่อเรียกว่า การสร้างต้นแบบ หรือ Prototyping

WHAT : Prototype คืออะไร?

Prototype คือ การแปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างง่ายสุด ถูกสุด เร็วสุด ให้เป็นต้นแบบไปทดสอบกับกลุ่มคนที่เราคิดว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้งาน หรือลูกค้าของเรา หลักการของ Prototype เกิดจากแนวคิดที่ว่า กิจการตั้งต้นมีทรัพยากรจำกัด แทนที่จะนั่งเทียนพัฒนางานกันอยู่ในห้องเพียงลำพัง โดยไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์ผู้ใช้มั้ย ลองคิดกลับกัน รีบสร้างตัวต้นแบบอย่างง่าย ทดลอง พูดคุยกับผู้ใช้และเก็บ FeedBack กลับมาพัฒนา พัฒนาเสร็จเอาไปคุยกับผู้ใช้ และกลับมาพัฒนาต่อวนไปเรื่อยๆ เราก็จะได้สินค้า/บริการที่ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการคนใช้จริงๆ ไม่ได้คิดไปเอง

WHY : ทำไมต้องสร้าง Prototype?

  • Prototype ช่วยให้เราล้มเร็ว เรียนรู้เร็ว เข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริงและรอบด้าน เพราะพัฒนาไป คุยกับคนไป ไม่ใช่พัฒนารวดเดียวจบ ใช้เวลาเป็นปีๆ แต่เปิดตัวมาทีตกม้าตาย เพราะผู้ใช้ไม่ชอบ ไม่ต้องการ แบบนี้เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แถมเรายังอาจเสียกำลังใจไม่อยากทำต่ออีก
  • การสร้าง Prototype ช่วยลดความเสี่ยง แทนที่จะโยนเงินจำนวนมหาศาลไปพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ไม่รู้จะตอบโจทย์ผู้ใช้หรือไม่ การสร้าง Prototype แบบง่ายๆ จะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าสินค้าหรือบริการที่คิดกันไว้ เวิร์คหรือไม่เวิร์คกันแน่ จะได้ไหวตัวทัน และพัฒนาสินค้าให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น

How : อยากสร้าง Prototype เริ่มต้นยังไงดี?

การสร้าง Prototype มี 4 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ Build (สร้างต้นแบบ) – Test (ทดสอบกับผู้ใช้) – Learn (เรียนรู้) – Iterate (ทำซ้ำ)

1.Build (สร้างต้นแบบ) เลือกวิธีที่จะสร้างต้นแบบอย่างง่ายขึ้นมา โดยเลือกทำจากฟังก์ชันที่สำคัญก่อน และอย่าทำหลายอย่างจน prototype ซับซ้อนเกินไป เราสามารถสร้าง prototype ที่แตกต่างกันเพื่อทดสอบฟังก์ชันที่แตกต่างกันในแต่ละครั้งได้ โดยก่อนจะสร้าง Prototype เราต้องมีสมมุติฐานในใจเสียก่อนว่า “ถ้าเรา……. ลูกค้าจำนวน……….. จะ ……….”

ตัวอย่างการสร้าง Prototype แบบง่าย เช่น

  • ต้นแบบที่เป็นวัตถุ (Physical Prototype) : เป็นการทดลองด้วยต้นแบบที่จับต้องได้ เช่น องค์กร Shining Hope for Communities (SHOFCO) อยากรณรงค์ให้คนช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งองค์กรเมื่อพบเห็นความรุนแรงในชุมชน องค์กรตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าตั้งกล่องรับเรื่องร้องทุกข์ตามจุดต่างๆ ของชุมชน (จุดสาธารณะกลางชุมชน/จุดกึ่งสาธารณะกึ่งลับตาคน/จุดลับตาคน) คนในชุมชนจะกล้าให้เบาะแสความรุนแรงมากที่สุด องค์กรจึงเลือก protrotype โดยการสร้างกล่อง 3 กล่องและทดลองตั้งใน 3 จุดของชุมชน และสังเกตว่าจุดไหนมีคนมาหย่อนจดหมายแจ้งเรื่องความรุนแรงมากกว่ากัน
  • ต้นแบบที่เป็นการบริการ (Service Prototype) : เป็นการออกแบบประสบการณ์ของคน เช่น องค์กร Water and Sanitation for the Urban Poor (WSUP) ต้องการทำให้ชาวเคนย่าเข้าถึงน้ำสะอาดอย่างทั่วถึง ทีมจึงอยากทดสอบว่าระบบส่งน้ำวิธีไหนได้ผลที่สุด ทาง IDEO.org เลยช่วยดีไซน์โลโก้ และตั้งชื่อว่า Smart life แล้วแปะโลโก้ลงบนเสื้อสต๊าฟ, Kios ที่ยืมมา และขอแบ่งเช่าพื้นที่ชั่วคราวเพื่อทำหน้าร้าน โดยทีมตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าขายน้ำแบบส่งตรงถึงบ้าน / ขายตาม Kios / ขายแบบหน้าร้าน ชาวเคนย่าจะสะดวกและซื้อน้ำกับ WSUP

2. Test (ทดสอบกับผู้ใช้) : เมื่อตั้งสมมติฐานและสร้างต้นแบบเสร็จแล้ว เราต้องหากลุ่มที่จะมาเป็นผู้ทดสอบต้นแบบของเรา

  • Who might be my early adopters?: ใครน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะสนใจหรืออยากทดลองใช้สินค้า/บริการของเรา ระบุให้เฉพาะเจาะจงสักนิด เพศไหน อายุเท่าไหร่ lifestyle เป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น the guidelight ซึ่งเป็นระบบสนับสนุนการเรียนสำหรับนักศึกษาตาบอด ผู้ใช้กลุ่มแรกคือนักศึกษาตาบอดในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะนักศึกษาตาบอดที่ ม.ธรรมศาสตร์จะเรียนอยู่ใน 3 คณะหลักๆ ได้แก่ รัฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ และนิติศาสตร์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่านักศึกษานิติศาสตร์มีปัญหาเรื่องสื่อการเรียนมากที่สุด
  • Do I know anyone who fit this category? : แล้วเรารู้จักใครรอบตัวที่เป็น Early Adopter บ้าง เช่น ทีม The guidelight ลองลิสต์รายชื่อศูนย์นักศึกษาพิการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีคณะนิติศาสตร์ แล้วคิดว่าจะเริ่มต้นคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะทีมงานมีรุ่นน้องตาบอดเรียนนิติศาสตร์ที่นี่ เลยเริ่มทดลองกับรุ่นน้องและเพื่อนของรุ่นน้องได้
  • Who do I know that could introduce me to someone new? : ถ้าเราไม่รู้จักกลุ่ม Early Adopter ของเราโดยตรง ก็ลองหาใครที่จะพาเราไปเจอหรือแนะนำให้เรารู้จักพวกเขาได้ เช่น The guidelight รู้จักพี่พนักงานที่ศูนย์นักศึกษาพิการ และขอให้เขาช่วยนัดน้องๆ ตาบอดมาเจอกับทีมงาน
  • Who will I approach first? : ข้อดีของการทำโครงการเพื่อสังคมคือมีคนพร้อมช่วยเราเยอะไปหมด แต่ถ้าเราไปเจอทุกคนจะเสียเวลามากๆ เราต้องกรองรายชื่อคนที่เราอยากเจอจริงๆ และนัดคนกลุ่มนั้นก่อน

3. Learn (เรียนรู้) : ทำใจเป็นกลาง อย่าเถียงเพื่อปกป้องไอเดียตัวเองจนไม่ได้เรียนรู้จากกลุ่มเป้าหมาย ควรฟังให้เยอะ แล้วนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากการทดสอบครั้งนี้บ้าง? คนชอบอะไร? ไม่ชอบอะไร? อยากได้อะไรเพิ่มเติม? แบ่งข้อเสนอแนะเป็นหมวดหมู่ แล้วจัดอันดับว่าผู้ใช้พูดถึงเรื่องอะไรมากที่สุด

4. Iterate (ทำซ้ำ) : ขั้นตอน Next Step หลังจากเรียนรู้จาก Prototype แรก เราจะทำอะไรต่อไป

  • ทำซ้ำ : อะไรที่ดีอยู่แล้ว คนพอใจอยู่แล้ว เราเก็บไว้
  • ทำให้ดีขึ้น : ส่วนไหนที่คนอยากเห็นดีกว่านี้ ตอบโจทย์มากกว่านี้ Prototype ต่อไปควรลองเพิ่มส่วนนี้
  • เปลี่ยนแปลง : สิ่งที่ทำไปแล้วคนไม่ชอบ ไม่ต้องการ ให้ตัดทิ้งไป

ลองหยิบเทคนิคด้านบนไปใช้ และลงมือทำไอเดียให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ยิ่งได้ทดสอบไว แก้ไขไว เชื่อว่าเพื่อนๆ จะเปลี่ยนไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างแน่นอนค่ะ

อ้างอิง

ที่มาของภาพและบทความ : คอร์สเรียน www.acumen.org

อ่านบทความ Knowledge เรื่องอื่น ๆ ได้ที่…

นวัตกรรม คือ อะไร?
Prototype : วิธีแปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างแบบติดจรวด
Effective Communicating การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
Active Listening การฟังเชิงรุก
เริ่มต้นออกแบบตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลกระทบทางสังคม
ทำความรู้จักการวัดผลกระทบทางสังคม SIA
มองรอบด้านเพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยง (Oppotunity&Threat)