สถานการณ์ปัญหา : การกลั่นแกล้งกันของเด็กและเยาวชน (Bullying)

image

สถานการณ์และปัญหา

การ “กลั่นแกล้ง” (Bully) เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในสถานศึกษา การกลั่นแกล้งนั้นมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การทุบตี ซึ่งส่งผลทางกายภาพ หรือการด่าทอ เสียดสี เหยียด ล้อเลียนปมด้อยของคนที่ต้องการกลั่นแกล้ง ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจจากบทความของกรมสุขภาพจิตซึ่งพูดถึงประเด็นเด็กรังแกกันในโรงเรียน[1]  ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบว่า “การรังแกกันหรือล้อเลียนกันในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง การทำร้ายกัน มีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์จิตใจร่างกายและคุณภาพชีวิตในระยะยาว นักเรียนที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว”ในการศึกษาสถานการณ์การกลั่นแกล้งในสถานศึกษาของต่างประเทศ[2]  พบว่า ประเด็นการกลั่นแกล้งและความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อเด็กและวัยรุ่นอย่างมาก มีการประเมินว่าเด็กและวัยรุ่นจำนวน 246 ล้านคน ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในโรงเรียนจากการกลั่นแกล้งหลากหลายวิธีในทุกๆ ปี ซึ่งการกลั่นแกล้งโรงเรียนในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันไป

  • ผลการศึกษา สถาบันสถิติศาสตร์ (UIS) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO บ่งชี้ว่าเยาวชนเกือบ 1 ใน 3 ทั่วโลกเคยมีประสบการณ์ถูกล้อเลียน รังแก แกล้ง หรือถูก Bully มาก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าวิตก เพราะตอกย้ำปัญหาใหญ่ที่ส่งผลลบต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก
  • รายงานของยูนิเซฟ พบว่าการกลั่นแกล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ข้อมูลจากสำรวจ 106 ประเทศพบว่าสัดส่วนของวัยรุ่นอายุ 13-15 ปีมีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งมากที่สุด
  • กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐเกาหลีประจำปี 2558 พบว่า 75.5% ของความรุนแรงในโรงเรียนและการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นภายในโรงเรียนและ 24.5% เกิดขึ้นนอกโรงเรียน

นั่นแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ[3]  โดยในปี 2015 จากสถิติเด็กโดนกลั่งแกล้งในโรงเรียนสูงสุด อันดับ 1 ประเทศออสเตรีย ด้วยค่าเฉลี่ยการถูกกลั่นแกล้ง 21%

image

ในขณะที่ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อปี 2018 เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนไทยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนปีละประมาณ 600,000 คนโดยคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 40%  ติดอยู่อันดับ 2 ของโลกที่มีเด็กนักเรียนโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน โดยเป็นรองจากประเทศญี่ปุ่นจากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”  ของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[4] ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,606 คน ระบุว่า นักเรียนกว่า 91% เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน 88% เคยถูกกลั่นแกล้งทางวาจา 64% ถูกกลั่นแกล้งทางร่างกาย และ 30% ถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ซึ่งพฤติกรรมการกลั่นแกล้งเหล่านี้ สามารถส่งต่อแลกเปลี่ยนกันได้ เช่น การกลั่นแกล้งทางกาย สัมพันธ์กับการกลั่นแกล้งทางวาจา เป็นต้น

สถานที่ที่เกิดการกลั่นแกล้งกันมักจะเป็นสถานที่ที่คุ้นเคยและมีโอกาส 67.2% เกิดขึ้นในห้องเรียน 26.5% เกิดขึ้นในสนามโรงเรียน,โรงอาหาร และ 26.3% เกิดขึ้นทางเดินหน้าห้องเรียน, บันไดเมื่อเกิดการกลั่นแกล้งขึ้น ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะไม่เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง มีเพียง 34% ที่จะยอมเล่า โดย 64.4% เลือกบอกเพื่อน รองลงมา คือ การบอกพี่น้อง 37.1% , ครูประจำชั้น 33.8% และพ่อแม่หรือผู้ปกครอง 33.8% และเหตุผลที่บอกกับผู้อื่น เพราะต้องการแก้แค้นหรือเอาคืน

image

ประเภทของการกลั่นแกล้ง[5]

  1. การแกล้งทางร่างกาย คือ การทุบ ต่อย ตบ ตี ทำให้เจ็บเกิดบาดแผล
  2. การกลั่นแกล้งโดยคำพูด คือ ผู้แกล้งจะล้อเลียน ดูถูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก เรื่องพฤติกรรมต่าง ๆ
  3. การคุกคามในเชิงสัมพันธภาพ คือ การกลั่นแกล้งทางอารมณ์ ผู้รังแกมักจะแบ่งแยกผู้อื่นออกจากกลุ่ม กระจายข่าวลือ ควบคุมสถานการณ์ และทำลายความมั่นใจ
  4. การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ คือ ใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อตามรังควาน ข่มขู่ หรือทำให้อับอาย
  5. การกลั่นแกล้งทางเพศ คือ การดูถูกเกี่ยวกับรูปลักษณ์หรือรูปร่าง ผู้กลั่นแกล้งอาจแสดงความเห็นอย่างหยาบคายเกี่ยวกับรูปร่างของเด็กผู้หญิง ความมีเสน่ห์ดึงดูด พัฒนาการทางเพศหรือกิจกรรมทางเพศ ในกรณีที่ร้ายแรงมาก ๆ การกลั่นแกล้งทางเพศอาจนำไปสู่การทารุณกรรมทางเพศได้
  6. การกลั่นแกล้งโดยอคติ คือ การกลั่นแกล้งดังกล่าวขึ้นอยู่กับอคติที่เด็กก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่นมีต่อผู้คนที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา หรือรสนิยมทางเพศ การกลั่นแกล้งประเภทนี้อาจร่วมกับการกลั่นแกล้งชนิดอื่น ๆ รวมทั้งการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ทางคำพูด ความสัมพันธ์ ทางกาย และบางครั้งก็เป็นการกลั่นแกล้งทางเพศด้วย

สาเหตุของปัญหา

จากบทความ เรื่อง ล้วงความลับในจิตใจ “7 Reasons Why ทำไมเราถึง Bully คนอื่น”  (อ้างอิงที่ 5) ได้อธิบายเหตุผลของผู้ที่กลั่นแกล้งหรือรังแกคนอื่น โดยสรุปได้ 7 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ความเครียด

คนเรามีวิธีการจัดการกับความเครียดได้แตกต่างกัน บางคนเมื่อเครียดจะมีทางออกในการแก้ปัญหาเชิงบวก เช่น นั่งสมาธิ เล่นกีฬา ไปเจอเพื่อน หรือ ทำกิจกรรมที่ชอบ แต่ก็จะมีบางประเภทหาทางออกด้วยพฤติกรรมเชิงลบ คือ การกลั่นแกล้งคนอื่น แสดงความรุนแรง จนถึงพึ่งแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการปกปิดปัญหาที่อยู่ในใจของบุคคลนั้น แต่เป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราวแต่จะส่งผลเสียในระยะยาว

พฤติกรรมก้าวร้าว

มีการวิจัยมาว่าผู้ที่กลั่นแกล้ง ส่วนใหญ่ 66% เป็นผู้ชายและมักจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือ กลั่นแกล้งผู้อื่น เพียงเพราะตัวเองนั้นมีปัญหาแล้วพยายามที่จะทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นเพื่อกลบเรื่องราวที่ตัวเองเผชิญมาจึงทำให้เกิดการแสดงออกพฤติกรรมที่ก้าวร้าว แนวโน้มของคนที่กลั่นแกล้งคนอื่น ในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)  ซึ่งเป็นโรคที่เกิดมาจากความมีอารมณ์ร้าย พฤติกรรมที่ก้าวร้าวตั้งแต่เด็ก ชอบความรุนแรง ส่งผลให้เป็นคนที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ใจร้อน ขี้โมโห ไม่มีการยับยั้งชั่งใจ เห็นเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ก่อปัญหาอาชญากรรมได้ การที่จะป้องกันโรคนี้ คือ การปลูกฝังเรื่องที่ดี สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ การมองโลกในแง่ดี การเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น

เพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง

บางครั้งคนที่ถูกแกล้ง อาจไม่ได้มีข้อด้อย แต่เป็นคนที่ดี เพียบพร้อม เรียนเก่ง หน้าตาดี ซึ่งเหตุผลที่ผู้กลั่นแกล้งทำก็คือ ต้องการเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง พยายามหาข้อเสียของคนๆ นั้น เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น กลบความรู้สึกในใจที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเขา ยกตัวอย่างเช่น ไปล้อคนอื่นว่า “อ้วนๆ” แต่จริงๆ ตัวเองก็ไม่ได้ผอมขนาดนั้น แต่ที่ล้อเพราะ “เค้าอ้วนกว่าเรา” เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่า “เราผอมกว่านะ”

เคยถูกกลั่นแกล้งหรือถูกรังแกมาก่อน

“เพราะเราเคยถูกแกล้งมาก่อน เราจึงต้องแกล้งคนอื่นต่อ” แนวคิดนี้เป็นเสมือนกลไกในการป้องกันตัวเอง และเป็นการส่งต่อความรุนแรงอย่างไม่ถูกควร อีกกรณีหนึ่ง ก็คือ การแกล้งตามเพื่อน เมื่อเห็นเพื่อนเราแกล้งใคร เราอาจจะแกล้งตาม เพราะมีอารมณ์ร่วมต่อเหตุการณ์หรือกลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ

มีปัญหาครอบครัว

1 ใน 3 ของผู้ที่แกล้งผู้อื่น บอกว่า “ครอบครัวให้เวลาไม่เพียงพอต่อพวกเขา” ซึ่งพวกเขามีแนวโน้มมาจากครอบครัวใหญ่ หรือ ครอบครัวที่ทำงานมากจนพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า “พวกเขาไม่ได้รับเวลา และ ความรักที่เพียงพอ” หรือ ที่ร้ายไปกว่านั้น บางคนมาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ส่งผลให้พวกเขาแสดงออกเป็นพฤติกรรมเชิงลบ

ความไม่รู้

บางคนอาจกลั่นแกล้งผู้อื่นโดยไม่รู้ว่า คำพูดหรือพฤติกรรมนั้นสามารถสร้างบาดแผลและความเสียใจให้แก่คนอื่น เพราะไม่เคยได้รับการปลูกฝังที่ถูกต้องในเรื่องของการใช้คำพูด การเข้าใจผู้อื่น หรือ การควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ทำให้พวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งที่ทำลงไปเป็นเรื่องที่ไม่ดี

รักษาความสัมพันธ์

เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน จึงต้องกลั่นแกล้งคนอื่นด้วย เพราะไม่อย่างนั้น อาจจะเข้ากับสังคมส่วนใหญ่หรือกลุ่มเพื่อนไม่ได้ หรือบางครั้ง อาจโดนกีดกันและถูกกลั่นแกล้งเสียเอง

image

ผลกระทบที่เกิดจากการกลั่นแกล้ง

การกลั่นแกล้งนั้นมีหลายเหตุผล เช่น ทำไปเพื่อความสนุกสนาน หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “แค่แซวเล่นเอง” “คิดมาก” และ “แค่นี้เล่นด้วยไม่ได้เหรอ” แต่สำหรับคนที่ถูกแกล้งนั้นหลายบริบทเขาไม่ได้รู้สึกสนุกด้วย เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน นอกจากจะส่งผลถึงความรู้สึกในตอนนั้นแล้ว อาจกลายเป็นแผลฝังใจในระยะยาว เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน แต่เมื่อพวกเขายังคงต้องไปเรียน สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นกลายเป็นความเครียดที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ และหากไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อถึงจุดหนึ่ง เด็กเหล่านั้นก็จะหาทางออกของปัญหาในทางต่างๆ กัน เช่น การเก็บความเครียดไว้กับตัว ที่อาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรืออีกทางคือ การระเบิดปัญหา กลับไปแก้แค้นเอาคืนกับผู้ที่กลั่นแกล้งผลกระทบที่เกิดจากการกลั่นแกล้งนั้น มีตัวอย่างหลากหลายให้พบตามสื่อต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้งที่รุนแรงจนเป็นเหตุให้บาดเจ็บ[6]   หรือเสียชีวิต หรือ การล้อปมด้อยจนเหยื่อตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง[7]  หรือบางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตต่าง ๆ ซึ่งหากโชคร้ายอาจทำให้เขาถูกกลั่นแกล้งมากขึ้นไปอีกผลกระทบของการกลั่นแกล้งกัน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวเด็กที่ถูกรังแกเท่านั้น แต่เด็กที่เป็นผู้รังแก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งเราสามารถสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งสองฝ่ายได้คร่าวๆ ดังนี้ [8]

เด็กที่ถูกรังแก

  • จะกลายเป็นคนวิตกกังวล ขี้กลัว
  • แยกตัวจากคนอื่น
  • ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ
  • ไม่มีสมาธิ
  • ผลการเรียนลดลง
  • ไม่อยากไปโรงเรียน
  • ย้ายโรงเรียนหนี
  • มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ไม่ถูกรังแก 2-9 เท่าเมื่อโตขึ้น

เด็กที่รังแกคนอื่น

  • มีพฤติกรรมก้าวร้าวใช้ความรุนแรง
  • ต่อต้านสังคม
  • หนีเรียนเมื่อโตขึ้น
  • ใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดเมื่อเป็นวัยรุ่น
  • เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มีแนวโน้มทำร้ายคนในครอบครัว
  • มีแนวโน้มทำผิดกฎหมายหรือก่ออาชญากรรม
image

ปัญหาเกิดขึ้นใน “โรงเรียน” และปกปิดโดย “โรงเรียน”[9]

จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดความรุนแรงในสถานศึกษา อาจเกิดขึ้นจาก การกดขี่ เห็นคนอื่นต่ำกว่าตน ความสนุกความคึกคะนองของวัย รวมถึงสภาพสังคม และสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงปรากฏเป็นนิจ ประกอบกับการที่โรงเรียนไม่ค่อยในความช่วยเหลือ หรือบางกรณีทางโรงเรียนกลับไกล่เกลี่ยในมีการยอมความหรือจบเรื่องกันไปมากกว่าช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งทั้งนี้ปัญหาเรื่องความรุนแรง โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งกันในสถานศึกษานั้นยังไม่ค่อยได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมาจนถึงทุกวันนี้ ในบางสถาบันเมื่อเกิดเรื่องกลับให้มีการปกปิดเรื่องราวมากกว่าเพราะเป็นห่วงเรื่องชื่อเสียงของสถาบัน รวมทั้งความกลัวของผู้ถูกกลั่นแกล้งเอง จนไม่กล้าบอกคนอื่น และเลือกที่จะเก็บปัญหาเหล่านั้นไว้คนเดียวจนนำไปสู่การโดนทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง เป็นโรคซึมเศร้า จนอาจถึงขั้นตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง แต่ที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นคือ ผู้กระทำคิดว่าการกลั่นแกล้งนั้นเป็นเรื่องปกติ

แนวทางในการแก้ปัญหาเด็กรังแกกันในโรงเรียน

วิธีที่คุณครูจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน

1. การปรับปรุงความเข้าใจเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก ขอบเขตของการกลั่นแกล้งรังแกกว้างขวาง นับตั้งแต่การแกล้งหยอกล้อกันแบบเบา ๆ ไปจนถึงขั้นรุนแรง เช่น การตั้งฉายา หรือ การตบตี ซึ่งครูในโรงเรียนสามารถพูดคุยกับนักเรียนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอ  หรือ ถามถึงสาเหตุว่า ทำไมถึงได้รังแกเพื่อน และคุยกับพวกเขาว่า ควรแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร บ่อยครั้งที่การกลั่นแกล้งรังแกกัน เกิดขึ้นเพื่อให้ตนเองได้เป็นที่นิยมชื่นชอบในหมู่เพื่อน หรือบ้างเป็นการลงมือทำเพื่อแก้เซ็ง หนทางที่สำคัญคือ การดึงเด็ก ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ และสนับสนุนให้เพื่อน ๆ ช่วยเหลือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย2. ให้คำปรึกษากับเด็กนักเรียน ครูสามารถที่จะช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจพฤติกรรมของตัวเองที่เป็นฝ่ายกลั่นแกล้งรังแกเพื่อนและช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอนั้นๆ ด้วยการพูดคุยกับเด็ก ๆ ว่า เกิดอะไรขึ้น การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างไร เด็กๆ จะมีแนวทางที่จะตอบโต้ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในแบบที่เคารพอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างไรหากเกิดเรื่องเช่นนี้อีก ซึ่งการใช้วิธีการแบบสมมุติบทบาท (role-playing) ตามฉากของสถานการณ์ต่าง ๆ จะช่วยในการทำความเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมในทางลบได้ชัดเจนขึ้น  โรงเรียนสามารถจัดให้มีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้แบบเชิงรุก การจัดกิจกรรมนี้ โรงเรียนควรจัดให้มีเป็นประจำมากกว่าจะคอยแก้ปัญหาเมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว3. การสนับสนุนให้นักเรียนช่วยแก้ปัญหา ครูสามารถปรึกษากับเด็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายที่รังแกเพื่อนและถูกเพื่อนรังแก เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านั้นด้วยกัน และมองหาทางออกหรือข้อเสนอแนะต่อปัญหานั้น ๆ  เช่น การสร้างบรรยากาศให้เด็กๆ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น และให้พวกเขาบอกเล่าความรู้สึก และเปิดให้พวกเขาได้เรียนรู้การมีปฎิสัมพันธ์ต่อเรื่องที่อาจสร้างความเกรี้ยวกราดด้วยวิธีการที่ใจเย็นและสงบลง วิธีหนึ่งที่นักวิจัยเลือกใช้คือ การให้เด็กๆ เขียนบันทึกประจำวันเป็นประจำ เพื่อให้มีช่องทางระบายอารมณ์ในเชิงบวก4. การจัดให้เด็กนักเรียนได้มาพบปะพูดคุยกัน ภายหลังจากที่ครูได้แยกคุยกับเด็กๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกันทีละคนแล้ว ครูควรจะเปิดให้มีการพบปะพูดคุยระหว่างกัน การเปิดให้ได้พูดคุยหรือซักถามกันอย่างตรงไปตรงมาระหว่างเด็กๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้ง เป็นทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้5. การสร้างความสัมพันธ์ที่เคารพซึ่งกันและกันระหว่างครูกับนักเรียน นักวิจัยย้ำว่า การแก้ปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างครูกับนักเรียน ครูควรจะพูดคุยกับเด็ก ๆ ด้วยความเคารพ ตั้งใจฟังและตอบสนองต่อมุมมองของเด็กนักเรียน ให้เวลามากเพียงพอในการทำความเข้าใจแง่มุมหรือความเห็นของพวกเขา

วิธีที่พ่อแม่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกถูกรังแกในโรงเรียน[10]

1. สอบถามถึงความสัมพันธ์ของลูกกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หรือพูดคุยกับครูประจำชั้นเพื่อช่วยสอดส่องดูแล รวมถึงสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกแกล้ง เช่น มุมลับตาคนในโรงเรียน และให้ทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกรังแกได้น้อยกว่าการอยู่คนเดียว2. ยกประสบการณ์การถูกรังแก ให้เด็กเข้าใจว่าหากเกิดขึ้นกับเด็กให้เล่าให้ผู้ปกครองฟัง และหากเด็กเล่าเรื่องนี้ ให้ผู้ปกครองชื่นชมในความกล้าหาญของเด็กที่พูดถึงเรื่องนี้ พร้อมกับให้กำลังใจเด็ก และปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาวิธีการที่โรงเรียนจะรับรู้เรื่องนี้และให้การช่วยเหลือเด็ก3. กำจัดตัวล่อของการถูกรังแก เช่น หากเด็กถูกข่มขู่เรียกเงินค่าอาหารกลางวันหรือของใช้ส่วนตัว ก็ให้เด็กนำข้าวกล่องไปทานหรืองดให้เด็กพกของมีค่าไปโรงเรียน เป็นต้น และควรสอนให้เด็กรู้จักการป้องกันตัวเอง โดยที่ไม่กระทำคนอื่นก่อน สอนให้เด็กกล้าที่จะห้ามหรือพูดกับเด็กที่มารังแกเขา4. หากพ่อแม่รับรู้เรื่องราวที่ลูกถูกรังแกแล้ว อย่าปล่อยให้ลูกต้องต่อสู้กับเรื่องนี้ด้วยตัวเองตามลำพัง ควรรีบไปพูดคุยเจรจากับผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้รังแก โดยมีคุณครู ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทราบถึงปัญหา และหาทางแก้ไขหรือจัดการอย่างเหมาะสม จะได้เป็นการยุติการกระทำของเด็กที่เป็นผู้รังแกด้วย ก่อนที่การข่มเหงรังแกจะรุนแรงไปมากกว่าเดิม5. สอนให้เด็กรู้จักการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ถูกข่มเหงรังแก เช่น ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น รวมถึงฝึกการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็ก หรือปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการกระทำนั้น เพียงแต่บอกผู้รังแกว่าให้หยุดพฤติกรรม แล้วเดินห่างออกมา หากเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงอาการ จะลดแรงจูงใจในการถูกรังแกได้

วิธีที่พ่อแม่จะช่วยลูกหยุดรังแกเพื่อน

1. สอนให้รู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งจากผู้ปกครองในบ้านและในสังคมภายนอก ควรสอนให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีการตั้งกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะถูกลงโทษหากรังแกเพื่อน แต่ทั้งนี้ก็ควรสังเกตุพฤติกรรมของเด็กด้วยว่า จากที่ลงโทษไปแล้วเด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นหรือเปลี่ยนไปในทิศทางไหน2. บอกกล่าวเด็กว่าถ้ามีพฤติกรรมที่ดีจะทำให้คนอื่นอยากเป็นเพื่อนด้วย สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่น มีน้ำใจแบ่งปัน พูดสุภาพ ไม่ล้อเลียนว่าปมด้อยของเพื่อน ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กที่มีความแตกต่างกับตัวเอง จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น และทำให้เป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนโยนขึ้น3. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ไตร่ตรองคำพูดหรือกระทำการใดๆ ก่อน ถ้าผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โดยผู้ปกครองสามารถบอกความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้น และแสดงให้เด็กเห็นว่าควรจะจัดการต่ออารมณ์นี้อย่างไร4. หาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เด็กรังแกเพื่อน ทั้งในด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เช่น มีเด็กคนอื่นที่ชอบรังแกเพื่อนอีกหรือไม่ เพื่อนๆ ของลูกมีพฤติกรรมนี้ด้วยหรือไม่ ลูกต้องเผชิญกับความกดดันใดหรือไม่ โดยปรึกษาคุณครู นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือกลุ่มผู้ปกครองในการหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน5. อย่าสนับสนุนลูกในทางที่ผิด แต่หากเด็กมีพฤติกรรมที่ดีสามารถแก้ไขความขัดแย้ง โดยใช้วิธีทางบวกและสร้างสรรค์ได้ ควรชมเชยหรือให้เป็นรางวัล เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ และกระตุ้นให้เด็กกระทำแต่สิ่งที่ดี รวมถึงเป็นการฝึกให้เด็กไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหาอีกด้วย

สถานการณ์จำลองวิธีหยุดการกลั่นแกล้ง[11]

ที่มา: 

ตัวอย่างสถานการณ์จำลองวิธีการหยุดเมื่อเจอสถานการณ์โดนกันแกล้งบนเวทีของ Brooks Gibbs วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะสังคมในเด็กและวัยรุ่น โดยเขาเชิญเด็กผู้หญิงมาแสดงบทบาทร่วมบนเวที โดยจำลองสถานการณ์ 2 ช่วงช่วงแรก เขาให้เด็กผู้หญิงรับบทบาทเป็นคนกลั่นแกล้ง โดยมีโจทย์ เขาจะสามารถหยุดการกลั่นแกล้งได้ไหม เริ่มต้นจากให้เด็กผู้หญิงด่าว่า คุณมันโง่ โดย Brooks Gibbs จะแสดงอาการไม่พอใจ ตอบโต้กันกลับไปมาด้วยอารมณ์โมโห โกรธ จนเด็กผู้หญิงตอบโต้ได้ชนะในสถานการณ์ที่ 2 Brooks Gibbs ได้ใช้วิธีการถกเถียงเหมือนเดิม แต่เขาได้ปรับวิธีการพูดโต้ตอบใหม่ จากการโต้ตอบที่แสดงอาการไม่พอใจถกเถียงด้วยอารมณ์โกรธมาเป็นการตอบโต้ที่อารมณ์มั่นคง ใจเย็นขึ้นจนทำให้เด็กผู้หญิงที่เป็นคนกลั่นแกล้งคิดคำพูดไม่ออก จนไม่มีบทสนทนาต่อ ในการจำลองสถานการณ์นี้ให้เห็นวิธีการในการหยุดเมื่อโดนกลั่นแกล้ง

ช่องว่างและโอกาสในการแก้ไขปัญหา

  • ปัญหาเรื่องบุคลากรในโรงเรียนไม่เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงหรือมองว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น คุณครูในโรงเรียนไม่เข้าใจในตัวเด็กเมื่อเด็กฟ้องว่าถูกรังแก คุณครูก็มักจะคิดว่าเด็กแค่แกล้งกันเฉยๆ ไม่ได้มีอะไร จึงไม่ได้พยายามหาทางแก้ไข นอกจากนั้น ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี เช่น เลือกใช้วิธีลงโทษเด็กที่แกล้งผู้อื่นมากกว่าการปรับทัศนคติหรือสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กที่มีพฤติกรรมเชิงลบ จนทำให้เด็กที่ไปฟ้องถูกกลั่นแกล้งหนักกว่าเดิม เป็นต้น
  • เด็กปรึกษาใครไม่ได้เพราะไม่มีใครเข้าใจ ไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงเรียน เมื่อปรึกษาใครไม่ได้จึงเกิดความเครียดและเก็บกด จนเป็นโรคซึมเศร้า
  • สื่อต่าง ๆ นำเสนอภาพลักษณ์ของบุคคลเพศที่สามในเฐานะของตัวตลกและสร้างความขบขันเพียงด้านเดียว เช่น ดาราตลก ธงธง จ๊กมก ต้องโดนตบหัว รวมถึง การล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก เชื้อชาติ สีผิว หรือคนที่มีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น คนอ้วน คนผิวแทน หรือคนจากภาคอีสาน ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องตลกและการล้อเลียนบุคคลในลักษณะนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนรอบข้าง จึงทำให้เด็กหรือวัยรุ่นเกิดภาพจำว่า พวกเขาสามารถล้อเลียนหรือแสดงออกในเชิงลบต่อบุคคลที่ต่างออกไปหรือรู้สึกว่าเหนือกว่าเขาได้อย่างเป็นเรื่องปกติ
  • ในปัจจุบัน มีการกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) เพิ่มมากขึ้น[12] ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากพื้นที่ออฟไลน์อย่างในโรงเรียนก่อน แล้วค่อยขยายวงเข้าไปสู่โซเชียล ถ้าในโลกจริงไม่ถูกกัน บนไซเบอร์ก็จะไม่ชอบกัน Cyberbullying ของไทยเกี่ยวพันกันกับสังคมออฟไลน์มาก รูปแบบที่พบบ่อย คือ เริ่มแกล้งทางวาจา ก่อนจะขยายไปทางกาย แล้วจึงพัฒนาเป็น Cyberbullying ซึ่งการจะหยุดทั้งหมดต้องเริ่มจากวาจาก่อน นอกจากนั้น ยังพบผู้ชายจะโดนแกล้งมากกว่า และลักษณะการแกล้งมักจะเกิดขึ้นเมื่อ “อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม” โดยใช้จำนวนที่มากกว่าการสร้างความรุนแรง หรือมีวัฒนธรรมบุญคุณ ที่ทำให้การแก้แค้นกับบุญคุณกลายเป็นเรื่องเดียวกัน และกลุ่มเด็ก LGBT ที่จะตกเป็นเหยื่อการถูกรังแกมากสุด
  • พ่อแม่ผู้ปกครองยังขาดความตระหนัก ความรู้และเข้าใจในการใช้งานอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ยกตัวอย่าง กฎเกณฑ์ของผู้ใช้งาน Facebook ที่ห้ามผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 13 ปี แต่พ่อแม่หลายคนสมัครใช้งานให้ลูก ซึ่งไทยยังไม่มีการให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้องและจริงจังเหมือนอย่างในต่างประเทศ เช่นเดียวกับครูหรือบุคคลากรในโรงเรียนที่ยังขาดความรู้ในเรื่องอินเตอร์เน็ต และ Cyberbully
  • ประเทศไทยควรมีการสอนเรื่อง Digital literacy หรือการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทันและปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน

แนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ

Stop Bullying

โครงการ Stop Bullying: เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิแพธทูเฮลท์ บริษัทดีแทค และองค์การยูนิเซฟ ในการพัฒนาระบบการให้บริการปรึกษาออนไลน์ผ่านห้องแชท (Chat Room) เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และที่เกิดขึ้นโดยตรงกับตัวเยาวชนเอง ให้ได้รับข้อมูล แนวทางการจัดการ และความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

ที่มา: 

Safe Internet

หลักสูตรออนไลน์ Safe Internet โดยความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป (Telenor Group) และ แพเร้นท์โซน (Parent Zone) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการเลี้ยงดูเด็กในยุคดิจิทัล หลักสูตรนี้ ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กในวัย 5-16 ปี ให้พัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการท่องอินเตอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้น ยังช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องพฤติกรรมเชิงบวกที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างมีน้ำใจและเคารพซึ่งกันและกันบนโลกออนไลน์ รู้จักพิจารณาความเสี่ยง พฤติกรรมเชิงลบ วลีแห่งความเกลียดชัง และข่าวลวงบนโลกออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์ รวมถึง เรียนรู้วิธีการขอความช่วยเหลือ และกอบกู้สถานการณ์กลับมาได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น

โครงการกล้าทำดี ยุติความรุนแรงและการรังแก

โครงการกล้าทำดีฯ ของมูลนิธิรักษ์ไทย ที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน โดยเน้นที่เด็กอายุระหว่าง 9-12 ปี ในโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงยาก เช่น บนดอยหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยความพิเศษของโครงการนี้ก็คือ การไม่ตัดสินว่าใครเป็นคนผิดหรือถูก เพื่อไม่ให้เกิดการตีตรา (labelling) ที่ทำให้เกิดเป็นปมในใจและอาจเป็นการทำร้ายสภาพจิตใจอย่างหนึ่งต่อเด็กได้ และมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กแต่ละกลุ่ม ทำให้เด็กที่ถูกรังแกสามารถปกป้องตัวเองได้ ปรับเปลี่ยนเด็กที่รังแกผู้อื่นให้เลิกพฤติกรรมการรังแก และเห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น เข้าใจสิทธิและความเท่าเทียมกัน รวมถึง กลุ่มกองเชียร์ ที่ดูอยู่ห่างๆ ให้เป็นคนที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ไม่เพิกเฉย มีความรับผิดชอบ เรื่องการรังแก เป็นต้น 

อ้างอิง

[1] ไทยอันดับ2 “เด็กรังแกกันในโรงเรียน” พบเหยื่อปีละ 6 แสนคน , กรมสุขภาพจิต (เผยแพร่วันที่ 28 มกราคม 2561)

[2] School violence and bullying: global status report

[3] สถานการณ์การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

[4] Cyberbullying ไทยไม่เหมือนชาติอื่น ดีแทคงัด Safe Internet หลักสูตรออนไลน์ช่วยเด็ก 5 หมื่นรายใน 1 ปี

[5] การกลั่นแกล้ง 6 ประเภทที่พ่อแม่ควรรู้จักไว้

[6] แม่ร้องปวีณา ลูกชายวัย 14 ถูกเพื่อนจับขังห้องเก็บของ ฉีดยาฆ่าแมลงใส่ ก่อนจุดไฟเผาโดนคลอกทั้งตัว

[7] ม.6 เครียด โดนล้อ “อ้วน” ดิ่งตึกโรงเรียนชั้น 5 เสียชีวิต

[8] การรังแกกันในโรงเรียน ความจริงที่น่าตกใจ, motherandcare.com (เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562)

[9] ปัญหาเกิดขึ้นใน “โรงเรียน” และปกปิดโดย “โรงเรียน”

[10] การรังแกกันในโรงเรียน ความจริงที่น่าตกใจ, motherandcare.com (เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562)

[11] สถานการณ์จำลองวิธีหยุดการกลั่นแกล้ง

[12] จะแก้ปัญหา “Cyberbullying” ต้องรู้จักหน้าที่พลเมืองดิจิทัล “ดีแทค” ดันหลักสูตร Safe Internet ใช้ชีวิตบนออนไลน์อย่างสร้างสรรค์

อ่านบทความอื่นๆ

What is Insight? ข้อมูลเชิงลึกของปัญหาคืออะไร และสำคัญอย่างไร?
สถานการณ์ปัญหา : สุขภาพจิตวัยรุ่น
สถานการณ์ปัญหา : ขยะในประเทศไทย
สถานการณ์ปัญหา : การกลั่นแกล้งกันของเด็กและเยาวชน (Bullying)
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 1
สถานการณ์ปัญหา : เด็กออกกลางคัน
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่เรียนต่อ
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่ได้เข้าเรียน
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 1
Insight : Mental Health at Work ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน