15% ของคนวัยทำงานทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต และพวกเขาใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของเวลาแต่ละวันในที่ทำงาน ดังนั้น ที่ทำงานจึงสามารถส่งผลกระทบต่อพนักงานได้เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ส่งเสริมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพทางจิต
School of Changemakers เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน จึงเชิญชวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานที่เป็นผู้ประสบปัญหาโดยตรง เจ้าของกิจการ นักจิตวิทยา คนทำงานภาครัฐ ภาคเอกชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่คลุกคลีกับปัญหานี้ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ปัญหานี้อย่างรอบด้านมากขึ้น เห็นความต้องการที่ยังไม่ได้ตอบสนองจากหลากหลายมิติ และเห็นโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในกิจกรรม Change Business Club: Mental Health @Work พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา และได้รวบรวมข้อมูล พร้อมทั้งสกัดข้อมูลเชิงลึกออกมาเป็นบทความนี้
สถานการณ์ปัญหา
ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ซึ่งการประเมินความสุขของคนทำงานในองค์กร ปี 2564 พบว่า กลุ่มคนทำงานมีระดับความสุขต่ำกว่ากลุ่มคนวัยอื่น นอกจากนี้ อัตราการฆ่าตัวตาย ในปี 2565 ซึ่งมีอัตราเพิ่มสูงที่สุดในรอบ 5 ปี กลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด ก็คือวัยทำงาน อย่างไรก็ตามองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบส่งเสริม ป้องกัน และช่วยเหลือพนักงานด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา
ผลกระทบ
- ปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง บรรยากาศการทำงานไม่ราบรื่น ลางานบ่อยขึ้น ในที่สุดก็ลาออก
- การลางานเนื่องจากภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลของพนักงานทั่วโลกรวมกัน ทำให้ผลิตภาพการทำงานลดลงเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
- การลาออกของพนักงาน ทำให้องค์กรต้องใช้ 15-20% ของรายได้ในการสรรหาและพัฒนาบุคคลากรใหม่ทดแทนตำแหน่งเดิม
- การที่พนักงานไม่ได้รับการส่งเสริม ป้องกัน และช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม อาจทำให้ปัญหาที่เล็ก เช่น ไม่มีสมาธิจดจ่อ หรือเครียด กลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่น ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ไปจนกระทั่งถึงการทำร้ายตัวเอง
- พนักงานที่มีประวัติเป็นโรคทางจิตเวช เมื่อรักษาจนหายแล้ว ก็ยากที่จะได้รับโอกาสกลับมาทำงาน หรือมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานเท่าเดิม
- มีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากผู้มีอาการทางจิตเวชเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของคนในสังคม
เหตุปัจจัย
- ข้อจำกัดหรือปัญหาส่วนบุคคล เช่น ปัญหาการเงิน ครอบครัว สุขภาพ กรรมพันธุ์ พื้นฐานอารมณ์ที่ไม่มั่นคง ความตระหนักรู้ในตัวเองน้อย การไม่มีทักษะจัดการความเครียดและแก้ปัญหา เป็นต้น
- สภาพแวดล้อมการทำงานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุภาพจิต เช่น สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่อึดอัด ไม่ปลอดภัย บรรยากาศตึงเครียด กดดันสูง งานหนักเกินไป ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป งานที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ขอบเขตงานไม่ชัดเจน ทำงานรูทีนซ้ำๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับหัวหน้างาน ความรู้สึกแปลกแยกจากทีม การเหยียดเพศ การเลือกปฏิบัติ การสื่อสารที่ไม่เป็นมิตร การถูกทำให้อับอายต่อหน้าคนอื่น เป็นต้น
- คนในองค์กรยังไม่มีความรู้และทักษะด้านสุขภาพจิตที่จะสังเกต เข้าใจ และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีเบื้องต้นให้กันและกันได้
- การไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิต ทำให้เกิดการตีตราทางสังคม (Social Stigma) คนที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิต มักถูกมองว่าอ่อนแอ ขี้เกียจ มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง และศักยภาพลดลง ทำให้คนที่เผชิญปัญหาทางสุขภาพจิตไม่กล้าพูดเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองในที่ทำงาน และมักจะสู้ด้วยตัวเองก่อน จนไม่ไหวแล้วจึงขอความช่วยเหลือ ซึ่งก็มักไม่ค่อยได้รับความสนใจหากอาการไม่หนักมากจริงๆ
- องค์กรยังไม่ให้ความสำคัญในการส่งเสริม ป้องกัน ช่วยเหลือพนักงานด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสมกับปัญหาสุขภาพจิตในแต่ละระดับ หรือยังไม่มีวิธีการนำนโยบายด้านสุขภาพจิตลงสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ จึงมักจะจัดการปัญหานี้ในเชิงตั้งรับ แก้ไขเป็นกรณีไป
ช่องว่างและโอกาสในการแก้ไขปัญหา
- องค์กรที่กำลังโตเป็นองค์กรขนาดใหญ่ขึ้น มักจะมีแรงกดดันสูงและยังไม่มีระบบดูแลสุขภาพจิตพนักงาน พนักงานจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต
- การได้ตัวเลขผลตอบแทนของการลงทุนด้านสุขภาพจิต (ROI) ในองค์กร จะทำให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญที่จะลงทุนในการจัดการกับปัญหานี้
- ผู้ที่นำลงสู่การปฏิบัติ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล หรือหัวหน้างาน ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะเกี่ยวกับสุขภาพจิต (Psychological literacy) และมีระบบติดตามผลที่ดีด้วย จึงจะทำให้เกิดระบบดูแลพนักงานด้านสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ
- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ที่จะทำให้พนักงานเกิดปัญหาสุขภาพจิต ส่วนใหญ่ป้องกันได้
- ในหลายกรณี หากพนักงานรู้ตัวเร็ว ยอมรับปัญหา และกล้าขอความช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสม ปัญหาก็จะถูกคลี่คลาย ไม่กลายเป็นปัญหาใหญ่
- พนักงานรุ่นใหม่ (Gen Y-Z-M) กล้าที่จะพูดและบอกความต้องการของตัวเองด้านสุขภาพจิตมากขึ้น
- พื้นที่ปลอดภัยที่ต้นทุนต่ำที่สุด และช่วยพยุงสถานการณ์ตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่ได้ คือ การสังเกต รับฟัง และการโค้ช จากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน
- ส่วนมากพนักงานจะเริ่มต้นจัดการปัญหาสุขภาพจิตด้วยการหาคนคุย หรือใช้แบบประเมินสุขภาพจิตและแอปพลิเคชั่นด้วยตนเองก่อน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ช่วยให้เข้าใจตนเองมากขึ้น และคำแนะนำในการปฏิบัติก็ไม่เฉพาะเจาะจง
- พนักงานสบายใจที่จะใช้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตภายนอกมากกว่าที่ปรึกษาภายในองค์กร เพราะกลัวการตีตราและมีผลกระทบกับการประเมินงาน
- บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่มีให้ใช้ฟรี รอคิวนาน ค่าปรึกษาจิตแพทย์รพ.รัฐ ครั้งละ 500-1,000 บาท เอกชน 1,000-3,000 บาท
- แผนประกันสุขภาพที่ครอบคลุมด้านสุขภาพจิตมีน้อย และส่วนใหญ่เบิกได้สำหรับการรักษาที่จิตแพทย์สั่งจ่ายยาเท่านั้น ไม่ครอบคลุมบริการด้านดูแลสุขภาพจิตด้านอื่นๆ เช่นการปรึกษา นอกจากนี้บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีสวัสดิการให้พนักงานเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต
- ลูกจ้างสามารถมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการของพนักงานด้วยกลไกคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ
- มีผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต ที่ให้บริการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ (คัดกรอง ส่งเสริม ป้องกัน รักษา) ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและสำหรับองค์กรโดยเฉพาะ
เมื่อเรามีข้อมูลเชิงลึก รวมทั้งเห็นช่องว่างและโอกาสในการแก้ไขปัญหาแล้ว การออกแบบไอเดียแก้ไขปัญหาเป็นขั้นตอนต่อไปที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง เชิญชวนมาร่วมกันออกแบบไอเดียในกิจกรรม “Idea Generation Workshop: Work can be protective and harmful คิดไอเดียแก้ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน” วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น.