จุดเริ่มต้นของสิริเมืองพร้าว
เกด การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ และ กาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์ สองพี่น้องเมืองพร้าว จ.เชียงใหม่เติบโตมาในครอบครัวนักกระบวนกร ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่บ้านของเกดและกาญจะมีหนังสืออยู่ตลอด มีคนเข้าออกบ้านเพื่อมาคุยงานชุมชนกับพ่อไม่ขาดสาย ซึ่งพ่อแม่ไม่ได้ปิดกั้นเด็กออกจาก ‘เรื่องของผู้ใหญ่’ ไม่เคยห้ามไม่ให้คิดหรือพูด ทำให้ทั้งสองซึมซับการคิด การทำกระบวนการ และงานชุมชนตั้งแต่ยังเด็ก
เมื่อจบ ป.6 เกดที่กำลังเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่นก็ได้เข้าสู่ภาคแรงงาน ทำงานบ้าน ทำก่อสร้าง ทำให้รู้จักพื้นที่และคนในชุมชนเป็นอย่างดี และเนื่องจากที่บ้านมีตู้หนังสือ ทั้งสองจึงเริ่มอ่านหนังสือที่บ้านแต่ด้วยเมืองพร้าวที่ไม่ใช่เมืองใหญ่จึงไม่มีทางเลือกมากนัก เกดจึงส่งจดหมายไปถึงสำนักพิมพ์ จึงมีหนังสือส่งมาให้ได้อ่านอยู่ตลอด คุณครูที่โรงเรียนก็ช่วยให้เธอยืมหนังสือจากห้องสมุด เกดจึงโตมากับงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต ก่อนจะไปทำงานต่อที่กรุงเทพ
ในช่วงชีวิตที่อยู่ที่กรุงเทพ เกดทำงานด้านสื่อ เป็นนักเขียนและบรรณาธิการ หนึ่งในงานที่ทำให้เกดใกล้ชิดเด็กและวัยรุ่น คือ คอลัมน์ถาม-ตอบปัญหากังวลใจของวัยรุ่น ส่วนกาญก็ทำงานสื่อ ดนตรี และมูลนิธิเกี่ยวกับเด็กและสตรี ทั้งสองจึงได้พัฒนาความรู้และทักษะการทำกระบวนการที่ติดตัวมาแต่เด็ก กระทั่งไม่กี่ปีก่อนที่พ่อเริ่มแก่ตัวลง เกดและกาญจึงชวนกันกลับเมืองพร้าวมาสร้างบ้านเพื่อดูแลพ่อ และแม้พ่อจะแก่ตัวลง ความเป็นนักกิจกรรมของพ่อก็ไม่ได้หายไป พ่อให้โจทย์กับเกดและกาญว่าอยากให้คนแก่บ้านเรามีกิจกรรมทำจะได้รู้สึกมีคุณค่า มีเสียง เกดเองที่เคยออกมาจากภาคการศึกษาก็มีหนังสือและการเขียนเป็นสื่อในการใช้เสียงของตัวเอง ที่บ้านมีหนังสือติดบ้าน ส่วนกาญก็ตั้งครรภ์ มีหนังสือเตรียมความพร้อมคุณแม่มากมายที่อยากแบ่งให้ผู้อื่น จึงเกิดเป็นไอเดียทำห้องสมุด จากความฝันสมัยเด็ก
กระบวนการสร้างการเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมาย
เกดและกาญคิดต่อว่าห้องสมุดที่จะเชื่อมคนในชุมชนนั้น น่าจะสามารถเคลื่อนด้วยเด็กเล็กปฐมวัย เพราะเด็กมาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ใหญ่พามา และหากผู้ใหญ่มาได้เห็นเด็กอ่านหนังสือและทำกิจกรรม ผู้ใหญ่ก็จะเห็นความสำคัญของการเล่นและการอ่าน ห้องสมุดแห่งนี้จึงได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ให้มีพื้นที่สวย ๆ แบบที่มีในเมือง มีพื้นที่ที่เอื้อให้ทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย มีร้านอาหารเครื่องดื่มและขนม ร้านค้าของฝาก แกลเลอรี่ สวน ที่นั่งเล่น ลานอเนกประสงค์ ที่พัก เพื่อต้อนรับคนหลากหลายกลุ่ม ให้พื้นที่นี้เป็นมากกว่าห้องสมุด ถึงแม้การสร้างพื้นที่เรียนรู้จะมีต้นทุนสูง สองพี่น้องก็ยอมลงทุนด้วยเงินส่วนตัวทั้งหมด
ในปี 2563 ห้องสมุดจินดา หัวใจของพื้นที่เรียนรู้สิริเมืองพร้าว ก็ได้เปิดให้บริการ โดยตั้งชื่อ ‘จินดา’ ตามคุณแม่ เกดดูแลด้านบริหารและชุมชน ส่วนกาญดูแลเรื่องกระบวนการที่เน้นเรื่องพัฒนาการเด็ก ช่วงแรก ห้องสมุดเปิดให้ยืมหนังสือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และขยับมาเก็บค่าสมาชิกเฉพาะผู้ใหญ่แบบตลอดชีพคนละ 50 บาทเพื่อการเข้าถึงง่าย ในช่วงวันธรรมดาก็จัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนควบรวมในพื้นที่เพื่อสร้างความร่วมมือ โดยในปัจจุบัน สิริเมืองพร้าวมีกิจกรรมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีเด็กเล็กและครอบครัวอย่างน้อย 100 ชีวิต ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม
1. คิดกิจกรรมโดยมีการเรียนรู้ของชุมชนเป็นหัวใจ
สิริเมืองพร้าวคิดกิจกรรมโดยมีการเรียนรู้ชุมชนเป็นหัวใจเสมอ สองพี่น้องจะเริ่มกำหนดธีมกันก่อน ดูจากวันสำคัญประจำเดือน หรือจากสิ่งที่ต้องการจะเสริมให้กับเด็ก ๆ และลูกของตนเองตามช่วงวัย หรือประเด็นที่น่าสนใจในชุมชน จากนั้น ตั้งเป้าหมายผลลัพธ์กิจกรรมว่าต้องการให้เกิดทักษะหรือการเรียนรู้เรื่องอะไร เมื่อเป้าหมายชัดแล้ว กาญก็จะหาข้อมูลและออกแบบกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายด้านทักษะได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และจัดประชุมทีมใหญ่
2. ประชุมทีมใหญ่ แลกเปลี่ยนกันในทีม
เกดบริหารทีมสิริเมืองพร้าวด้วยหลักการ วิสัยทัศน์ และการวางแผน ดังนั้น แม้เกดและกาญจะเป็นแกนนำในการคิดธีมและตั้งเป้าหมายการจัดกิจกรรม แต่ในทุก ๆ งานจะต้องประชุมต่อร่วมกับทีมใหญ่กว่า 20 ชีวิตเพื่อจูนชุดความคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสริมไอเดีย ซึ่งทีมของสิริเมืองพร้าวนั้นส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน บางคนเคยทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ทีมมีระดับทักษะที่หลากหลายไปด้วย และทำให้การแลกเปลี่ยนกันในทีม บางไอเดียที่ถูกโยนมาบ้างก็ทำแล้วได้ผล บ้างก็ไม่ได้ผล แต่ความคิดของคนในทีมก็สำคัญมาก สุดท้ายเขาก็เป็นเสียงสะท้อนของชุมชน นี่คือการสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในทีม เกดและกาญมองว่า “ถ้าเป้าหมายชัดแล้ว จูนชุดความคิดตรงกันแล้ว วิธีการปรับได้เสมอ” เมื่อได้กิจกรรมแล้วก็จะแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งทีมบริหารและธุรการก็จะมีหน้าที่ในวันงานจริงด้วย
3. จัดกิจกรรมการเรียนรู้และนำไปต่อยอดได้จริงในชีวิต
ทีมงานต้องการให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และคิดไอเดียใหม่ ๆ จากกิจกรรมของสิริเมืองพร้าว และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปทำเองที่หน้าบ้านตัวเองหรือที่ตลาดก็ได้ ใช้พื้นที่เรียนรู้เป็นโมเดล เป็นเครื่องมือที่จะนำคนเข้าเมืองพร้าว ชุมชนได้เงิน เศรษฐกิจโดยรวมก็ดีขึ้น
4. ต่อยอดสิ่งที่ได้เรียนรู้
ในทุกกิจกรรม ทีมงานก็ได้นำข้อมูลและผลลัพธ์ของแต่ละกิจกรรมมาต่อยอดอยู่เสมอ ทั้งในการปรับกระบวนการ การตั้งโจทย์การเรียนรู้ใหม่ ๆ และการนำข้อมูลที่ได้จากผู้เข้าร่วมมาใช้ในการพัฒนาชุมชน เช่น ข้อมูลจากกิจกรรมหมู่บ้านในฝัน ที่เด็ก ๆ ตอบว่าอยากได้มินิมาร์ท เพราะมีความทันสมัย มีของใหม่ ๆ แฝงไปด้วยความสนุกชวนตื่นเต้น หรือที่เด็ก ๆ อยากได้ความสนุกแบบงานปอย (งานมหรสพ) แม้เด็ก ๆ จะไม่ทราบว่าทำไมถึงอยากได้ ทีมงานก็ได้โจทย์ไปทำงานต่อ หาทางสร้างการเรียนรู้ที่สนุกอย่างสร้างสรรค์
ตัวอย่างกิจกรรมสิริเมืองพร้าว
ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 สิริเมืองพร้าวจัดตลาดนัด 2 ครั้ง เกดเล่าว่าเป็นกิจรรมที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชุมชน ตลาดนัดแรกคือกาดนัดละอ่อน (ตลาดนัดเด็ก) ที่ต้องการให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะชีวิต ลองคิดไอเดีย ขาย คิดเงิน ต่อรองกับลูกค้า และที่สำคัญ ได้มีโอกาสในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์กับครอบครัว ด้วยการปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่ว่าบ้านของเรามีอะไรสามารถไปขายที่กาดได้บ้าง ซึ่งทีมงานก็ได้เข้าไปขอความร่วมมือจากคุณครูและพ่อแม่ว่าให้เด็กคิดเองทำเองทั้งหมด และเมื่อถึงวันจริง มีเด็ก ๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลถึงชั้นประถม 6 มาขายของกว่า 50 ร้านค้า โดยมีผู้ปกครองคอยสนับสนุนอยู่ด้านหลัง คนก็มาเที่ยวและซื้อของกันเยอะ เด็ก ๆ ก็ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและได้รายได้จริง ๆ ด้วย
จากความสำเร็จของกาดนัดละอ่อน ผู้ปกครองก็ขอจัดกาดนัดชาวบ้านบ้าง ทีมสิริเมืองพร้าวมีหน้าที่ตั้งธีม จัดสถานที่แบ่งโซนผู้ปกครองกับแม่ค้าจริง ช่วยดูแลให้ของมีคุณภาพเพื่อให้ขายได้จริง และให้โจทย์เพื่อสอดแทรกการเรียนรู้ ซึ่งโจทย์ในครั้งนี้ ทีมงานต้องการให้ตลาดสร้างขยะน้อยที่สุด โดยไม่บอกหรือสอนว่าการขายของโดยสร้างขยะน้อยที่สุดทำอย่างไร หรือเพราะอะไรต้องช่วยกันสร้างขยะให้น้อย แต่ใช้การตั้งเงื่อนไขว่าหากใครเอาขยะมาเท่าไหร่ต้องขนกลับไปเอง ซึ่งการตั้งเงื่อนไขจะชวนคนในชุมชนคิดแก้ไขปัญหา เรียนรู้และสร้างสรรค์การขายของแบบใหม่ด้วยตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงได้ทบทวนวิถีชีวิตเดิม ภาชนะที่เคยถูกใช้ในชุมชนด้วยสมัยก่อน และให้รางวัลร้านค้าที่สร้างขยะน้อยที่สุดเมื่อจบงาน พอขยะใหม่ไม่ถูกสร้าง ชุมชนก็ยิ่งมีโอกาสในการลดมลพิษฝุ่นควันจากการเผาขยะได้
นอกจากการทำตลาด ทีมงานยังมีโครงการอื่น ๆ ที่สร้างการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในชุมชนโดยไม่ได้มีการจัดกระบวนแบบตรงไปตรงมาและได้ผลน่าสนใจ เช่น
- กิจกรรมนอกห้องเรียนที่ชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้ในสิริเมืองพร้าว มาปลูกกุหลาบ ทำอาหาร ขนมเครื่องดื่ม เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทักษะสร้างสรรค์ ความรู้สมัยใหม่นอกห้องเรียนที่มีคุณภาพ ในช่วงปิดเทอมแบบไม่ต้องห่างบ้าน
- เศษใบไม้เป็นเงิน ที่ให้ชุมชนเอาใบไม้ที่เป็นของเหลือใช้มาทำปุ๋ยแล้วนำปุ๋ยกลับไปใช้ได้ เพื่อลดการเผาใบไม้ ขยะและการเกิดฝุ่นควันในที่สุด
- ธนาคารของเล่น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด 19 มีความรุนแรง ทีมงานรวบรวมของเล่นและหนังสือไปจัดส่งตามบ้าน เพื่อไม่เด็กเล็กขาดการอ่านการเล่นที่บ้าน แม้กิจกรรมนี้จะทำให้หนังสือหายไปจากห้องสมุดกว่า 300 เล่ม แต่ทีมงานก็มองว่าเป็นการเพิ่มหนังสือในบ้านของชุมชน และนำผลการทำงานครั้งนี้มาพัฒนาต่อเป็นโครงการจัดมุมหนังสือที่บ้านให้เด็กเล็ก ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- สวนกุหลาบอินทรีย์ ที่เป็นโมเดลให้กับชุมชน ให้เห็นว่าเราสามารถทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของพร้าวได้ และพืชที่ดูจะปลูกยากโดยไม่ใช้เคมีอย่างกุหลาบก็สามารถปลูกได้ แถมยังนำไปต่อยอดแปรรูปเป็นขนม ผงปรุง เครื่องดื่มได้ด้วย
- กิจกรรมหมู่บ้านในฝัน ที่ชวนเด็กในชุมชนทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเกี่ยวกับหมู่บ้านของเขา และชวนคิดว่าเขาต้องการให้หมู่บ้านของเราดีขึ้นอย่างไรบ้าง และกิจกรรมร่างกายของฉันในอนาคต ที่ให้เด็ก ๆ ได้ขบคิดกับตนเองว่าตัวของเราจะเติบโตเป็นอะไรตอนโต แต่งตัวแบบไหนสะท้อนถึงอาชีพอะไร และแสดงออกผ่านภาพวาดเพื่อสื่อสารสิ่งที่อยู่ในความคิด บ้างก็มีที่หลุดโลก แต่เวทีเล็ก ๆ แห่งนี้ก็เป็นพื้นที่ให้เด็กแสดงความเป็นตัวของตัวเองกับเพื่อน กับครอบครัว และคนในชุมชน
และนอกจากกิจกรรมที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว สิริเมืองพร้าวก็กำลังสร้างห้องพักและพัฒนาแพ็กเกจท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวที่จะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้
เกดเล่าว่าเป้าหมายต่อไปของสิริเมืองพร้าวคือ มีสื่อชุมชนที่เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพราะด้วยคนในชุมชนยังไม่เข้าถึงสื่อออนไลน์มากนัก สิ่งพิมพ์ยังเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับชุมชนนอกเมือง ซึ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนี้ก็ตั้งใจให้เด็ก ๆ เป็นผู้สื่อข่าวเพื่อฝึกทักษะ ถ่ายทอดเรื่องราวของคนในชุมชน ด้วยเสียงของพวกเขาเอง
บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้
- สร้างห้องสมุดมาแก้ปัญหาอะไร วิเคราะห์ปัญหาให้ถูกจุดเกดและกาญมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนไทยไม่อ่านหรือชุมชนไทยขาดห้องสมุด แต่ปัญหาที่แท้จริง คือ เราขาดห้องสมุดที่เชื่อมต่อกับคน ขาดแรงบันดาลใจในการเข้าไปอ่าน ขาดโอกาสเข้าถึงหนังสือใหม่ ๆ ดี ๆ เกดกับกาญจึงตั้งคำถามใหม่เพื่อก้าวข้าม ‘พรมแดนข้อจำกัด’ หรือ Insight เหล่านี้ คิดให้ต่างจากห้องสมุดทั่วไปที่นำหนังสือไปอยู่ในอาคาร แต่จะทำ ‘ห้องที่ว่างเปล่าเป็นห้องสมุด’ เพื่อให้ห้องที่ว่างเปล่านี้เชื่อมคนในชุมชน และให้เป็น Platform เข้าถึงการอ่านได้จริง ทำอย่างไรก็ได้ให้คนมาใช้ห้องสมุด หากได้อ่านหนังสือที่ถูกใจเล่มแรกก็จะเป็นประตูให้ไปสู่เล่มต่อไป
- ทำความเข้าใจชุมชุนแม้จะมีโจทย์ที่ชัด แต่ก่อนจะกระโดดไปทำห้องสมุด กาญและเกดได้ทำแบบสอบถามสำรวจความต้องการของชุมชนกว่าร้อยชุด ในช่วงปี 2561 สุ่มถามความคาดหวัง และได้ทราบว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนต่างต้องการให้มีห้องสมุด และทำให้ได้เห็นว่าห้องสมุดในจินตนาการของชุมชนมีหน้าตาอย่างไร อีกข้อดีของการทำแบบสอบถามอยู่พักใหญ่ เกดและกาญได้พบผู้ใหญ่ในชุมชนที่พร้อมช่วยขับเคลื่อน คุยกับคนในชุมชนที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการสร้างห้องสมุด ทั้งสองจึงยิ่งเห็นถึงความต้องการจริงของชุมชน
- เราอยู่ในชุมชน ทำธุรกิจในชุมชน ต้องรับฟังและไปพร้อมกับชุมชนการทำธุรกิจในชุมชนนั้น ชุมชนคือทรัพยากร เราไม่สามารถทำพื้นที่ของเราให้สวยงาม ตั้งรั้วสูง อุปกรณ์ครบครัน หรูหรา หรือทำพื้นที่ออกมาให้ดึงดูดแต่คนในเมืองเสียจนคนในชุมชนไม่กล้าเข้า เพราะเราใช้ถนนเส้นเดียวกัน สูดอากาศที่เดียวกัน อย่างไร เราก็ต้องทำงานกับชุมชนอะไรที่เราสามารถพัฒนาหรือเป็นตัวอย่างได้ เราก็ให้คนในชุมชนมาดูมารู้เพื่อให้เขาไปทำกันเองต่อ ส่วนเรื่องปัญหาในชุมชนที่เราเห็น เราก็ไม่สามารถแก้เองได้ทุกอย่าง ดังนั้น การรับฟังคนอื่นสำคัญมาก ๆ ต้องทำให้คนในชุมชนกล้าพูด กล้าแสดงออก เข้ามามีส่วนร่วม และมีความสบายใจที่จะร่วมงานกับเราด้วย เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องตีโจทย์เขาให้แตก เข้าอกเข้าใจ และทำให้เขารับรู้ว่าเราไปด้วยกัน เราเป็นพวกเดียวกัน อยู่ในชุมชนเดียวกัน
- วิธีทำงานร่วมกับความหลากหลายที่มีอยู่จริงการทำพื้นที่เรียนรู้นั้นทำให้ได้เจอกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลาย อย่างการทำกิจกรรมกับเด็กในชุมชน จะมีทั้งเด็กพิเศษ เด็กไร้สัญชาติที่มีข้อจำกัดด้านภาษา เด็กที่ได้ไปโรงเรียน และเด็กที่ได้รับโอกาสเลยมีทักษะการเรียนรู้มากกว่าคนอื่น ดังนั้น คนจัดกระบวนการจะต้องมีความละเอียดอ่อนในการทำกระบวนการที่ทุกคนได้เรียนรู้เท่า ๆ กัน บางครั้งอาจจะต้องมีกิจกรรมเสริมให้คนที่ช้าทันเพื่อน หรือให้คนที่เร็วช้าลง นอกจากทักษะที่ไม่เท่ากันแล้วยังมีเรื่องแรงจูงใจในการเรียนรู้ อย่างเด็กบางคนไม่ชอบการแข่งขันก็ควรจะมีความสุขอยู่กับการเรียนรู้กับเพื่อนได้ เพราะเป้าหมายหลักคือคนในชุมชนไปต่อด้วยกัน ดังนั้น ท้ายกิจกรรมจะไม่มีการจัดอันดับว่าใครเก่งที่สุดแต่ให้รางวัลตามทักษะ เช่น รางวัลความพยายาม รางวัลความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกับการทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งแม้เขาจะเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่มานานและมักมีวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ ส่วนเราทำงานโดยใช้หลักการ ก็ต้องชัดเจน สื่อสารเงื่อนไข และพาเขามาอยู่ในกระบวนการของเราเพื่อให้เป็นระบบต่อไป ไม่ให้เกิดเป็นความสัมพันธ์แบบส่วนตัว เราจะรักบางกลุ่มไม่ได้ เช่นเดียวกับเด็ก เราจะรักเด็กที่รักการอ่านอย่างเดียวไม่ได้ เราจะต้องลงแรงเพิ่มให้กับเด็กที่ยังอ่านไม่ได้มากกว่า ไม่ใช่ไม่รักเขา
- เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับทีมของตัวเองด้วยเกดเล่าว่าเป็นหน้าที่ของคนทำพื้นที่เรียนรู้ที่จะเปิดพื้นที่ให้ตนเองและทีมงานเรียนรู้ไปด้วยกัน ดังนั้น ในวงประชุมมีการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย บางครั้งต้องปล่อยให้ทีมทำแม้เราจะรู้ว่าไอเดียนี้ทำแล้วอาจจะไม่ได้ผลที่ต้องการ เมื่อจบงานก็ชวนเขาทบทวนว่าติดที่ตรงไหน เพราะถ้าเราคัดค้านแต่แรก เราอาจจะผิดก็ได้ แผนที่วางมามันอาจจะไม่เป็นไปตามแผนทุกครั้ง ก็เรียนรู้และไปด้วยกัน
- การใช้ทุนส่วนตัวทำงานชุมชน เนื่องจากสองพี่น้องไม่อยากรับเงินบริจาคที่สะท้อนนัยยะระบบอุปถัมป์ เกดและกาญใช้เงินส่วนตัวในการทำสิริเมืองพร้าว ลงทุนเองทุกอย่าง อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด อะไรทำเองได้ไม่ต้องซื้อก็ทำเอง ซึ่งนักธุรกิจคนไหนผ่านมาเห็นก็อาจมองว่าการลงทุนแบบนี้นั้นในเชิงธุรกิจจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะจากการหารายได้ในปัจจุบันนั้น ห้องสมุดไม่ได้สร้างรายได้เยอะ ส่วนร้านค้าร้านอาหารก็ไม่ได้ตั้งราคาสูงที่จะทำกำไรอย่างเต็มที่ แต่สำหรับเกดและกาญแล้ว นี่เป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เพราะเมื่อพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้สามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและชุมชนได้จริง เด็กก็จะได้รับโอกาสและเติบโตไปทำอะไรก็ได้ ชุมชนก็จะได้ลูกได้หลานที่คิดทำไปข้างหน้า ได้คนรุ่นใหม่ที่รักในชุมชนท้องถิ่น ไปอยู่ที่ไหนก็จะอยากกลับบ้านมาทำอะไรดี ๆ ให้บ้าน ได้เพื่อนบ้านที่เป็นมิตร ชุมชนปลอดภัย ได้เศรษฐกิจที่ดี ผู้คนมีหนี้สินน้อยลง มีกินมีใช้มีเวลาพักผ่อน มีความหวัง มีเงินลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนดีเท่าไหร่ เราก็ดีด้วยเท่ากัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว เกดกับกาญก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
เกดตบท้ายว่า “การเรียนรู้ที่สิริเมืองพร้าวขายได้ เป็นการขายแรงบันดาลใจ ขายชุดประสบการณ์ มีคุณค่า ผู้คนต้องมาสัมผัสถึงที่ เราเลยเชื่อว่าเชิงธุรกิจ สิริเมืองพร้าวไปได้ ถึงที่สุด ถ้ามันไปไม่ได้ก็ถือว่าทำแล้ว”
หลุมพรางที่อยากบอก
ระวังความคิดที่เป็นเผด็จการ
พื้นที่เรียนรู้ตามความหมายแล้วต้องมีการเรียนรู้เกิดขึ้นจริง ๆ แม้แต่ผู้ทำเอง เราก็ต้องระวังว่าเราไม่ได้ถูกเสมอไป หรือคิดว่าเรารู้มากกว่า ฉลาดกว่า โดยเฉพาะเวลาทำงานกับคนในชุมชนที่อาจจะเข้าไม่ถึงโอกาสมากนัก รวมถึงอย่ามองคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เรียนรู้เป็นพร็อพ อย่าทำเพื่อได้รูป ได้เอกสาร เพราะการทำงานแบบนั้น ไม่สามารถสร้างผลกระทบในชีวิตได้เลย หากต้องการจะห่างความคิดที่เป็นเผด็จการ ต้องรับฟัง เตือนตัวเอง ทำอะไรด้วยการรู้ตัวให้มากที่สุด และมีกระบวนการที่เหมาะสมให้คนอื่นไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ทำไปแล้วไปคนเดียว วงแตก ไม่มีใครไปด้วย ถ้าทำผิดก็ยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด