ยังยิ้ม ใช้ชุมชนและป่าไม้เป็นห้องเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กและเยาวชน
จุดเริ่มต้นของกลุ่มยังยิ้ม
7 มกราคม 2566 ครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งกลุ่มยังยิ้ม ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน ซัม นูรฮีซาม บินมามุ เดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนบ้านเกิด อ.แว้ง จ.นราธิวาส และค้นพบของขวัญวันเกิดที่เขาตามหา นั่นคือ ป่าฮาลา-บาลา ที่สวยและอุดมสมบูรณ์มากเสียจนอยากให้คนอื่นได้มาเห็นด้วย ซัมจึงอยากตอบแทนโรงเรียนและชุมชนของเขาด้วยการทำให้ป่าแห่งนี้กลายเป็นหมุดหมายของการเรียนรู้ธรรมชาติ ไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของ อ.แว้ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเขียนโครงการขอทุนจากพื้นที่นี้ดีจังและริเริ่ม ‘กลุ่มยังยิ้ม’
ชื่อ กลุ่มยังยิ้ม สามารถตีความได้ 2 อย่าง คือ ‘Young ยิ้ม’ หมายถึง หนุ่มสาวที่มีความสุข หรือ ‘ยังยิ้มอยู่’ หมายถึง คนในชุมชนยังยิ้มได้แม้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซัมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มาเรียนรู้ธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ชุมชน ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รู้จักและรักชุมชนของตัวเอง ซึ่ง ณ ตอนนั้น เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับจังหวัดนราธิวาสเพราะไม่เคยมีใครทำงานด้านนี้ คนในชุมชนก็ตั้งคำถามว่าหนุ่มสาว 20 - 30 คนมาตั้งกลุ่มทำอะไร มีความคิดเห็นเชิงลบเข้ามามากมายด้วยความไม่เข้าใจ เพราะโดยธรรมชาติของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ขัดแย้ง ทำให้ซัมรู้ว่าตัวเองต้องลงมือทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชุมชนเข้าใจว่ากลุ่มยังยิ้มคือใคร ทำอะไร
เป้าหมายของยังยิ้มในปีที่ 1 - 5 คือ ทำให้คนใน อ.แว้งรู้จักและให้ความสำคัญป่าฮาลา-บาลา นกเงือกธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ชุมชนอันดีงามของ อ.แว้ง เพื่อที่เด็กและเยาวชนจะได้มีความรู้ ความเข้าใจใน ‘บ้าน’ ของตัวเอง และช่วยกันพัฒนาชุมชนต่อไปได้
เป้าหมายในปี 6 - 10 คือ ทำให้กลุ่มยังยิ้มเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของลูกหลานชาวแว้ง ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจจะให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและทักษะต่างๆได้อย่างเต็มที่ โดยมีพ่อแม่ค่อยสนับสนุนอยู่
ซึ่งเป้าหมายตลอด 10 ปีที่ผ่านมาถูกทำให้ลุล่วงเรียบร้อยแล้ว ผ่านกิจกรรม เหลือเพียงเป้าหมายต่อไปของซัมและกลุ่มยังยิ้ม คือ การพัฒนาทีมงานเพื่อให้เท่าทันโลกและพัฒนาการของเด็กที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีโมเดลธุรกิจเพื่อให้องค์กรดำเนินการอย่างยั่งยืนได้ และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น
กระบวนการสร้างการเรียนรู้
โจทย์ในการออกแบบกิจกรรมในแต่ละปีของกลุ่มยังยิ้มจะมาจากผู้ให้ทุนหลัก คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซัมและทีมงานจะออกแบบว่าตลอดทั้งปีจะมีกี่กิจกรรม อะไรบ้าง กี่กิจกรรม เพื่อตอบโจทย์ เช่น 1 ปี จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาทีมงาน กิจกรรมวันรักนกเงือก (เดือนกุมภาพันธ์) กิจกรรมย้อนรอยประวัติศาสตร์ชุมชน กิจกรรมสัญจรโรงเรียนสอนเรื่องธรรมชาติและวัฒนธรรม (3-4 เดือน) และกิจกรรมสุดท้าย จัดเทศกาลรวมเนื้อหากิจกรรมที่จัดมาตลอดทั้งปี เพื่อให้ชุมชนและสังคมรอบนอกได้รับรู้ และทีมงานได้ถอดบทเรียน โดยกิจกรรมจะถูกออกแบบขึ้นก่อนแล้วจึงดูว่าเหมาะกับผู้เข้าร่วมอายุเท่าไหร่
ตัวอย่างกิจกรรมของกลุ่มยังยิ้ม
กิจกรรมวันรักนกเงือก ถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ช่วงเดียวกับวันรักนกเงือก คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2547 กลุ่มยังยิ้มจัดกิจกรรม พาผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปเรียนรู้บ้านของนกเงือก ถิ่นอาศัยพื้นที่ทำรัง บทบาทของนกเงือกในธรรมชาติ จากนั้นมาสนุกกับศิลปะที่เกี่ยวกับนกเงือก ชมสารคดี ร่วมเวทีเสวนาเกี่ยวกับนกเงือก เพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก ทำความเข้าใจ และช่วยกันอนุรักษ์นกเงือกและธรรมชาติที่สวยงาม
บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้
- กระบวนการจากต้นทุนชุมชน
- เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ด้วยความไว้ใจของชุมชน
- ความยากในการทำบัญชีโครงการ
ซัมเริ่มต้นสำรวจต้นทุนที่มีก่อน คือ ในพื้นที่มีทรัพยากรอะไรบ้าง ด้วยความคิดที่ว่า หากไม่รู้จักพื้นที่ดี เราจะไม่สามารถแนะนำหรือชักชวนให้คนนอกเข้ามารู้จักและเรียนรู้กับเราได้ ซัมชวนเด็ก ๆ ไปรู้จักป่าฮาลา-บาลา รู้จักชุมชน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มีมากว่า 120 ปี ก่อนจะนำเครื่องมือการทำพื้นที่เรียนรู้จากเพื่อนเครือข่ายและเพื่อนฝูงที่ทำงานด้านต่าง ๆ มาบูรณาการเป็นกิจกรรมให้เด็ก ๆ เข้ามาเรียนรู้
แรกเริ่มที่ยังไม่มีใครเข้าใจว่ากลุ่มยังยิ้มเป็นใคร ทำอะไร คนในชุมชนต่างคิดกังวลไปว่า หนุ่มสาวที่รวมตัวกันจะนำไปสู่การมั่วสุมยาเสพติด หรือการก่อตั้งขบวนการอะไรหรือไม่ พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะกลัวหากลูกมาเข้าร่วมกิจกรรม ซัมจึงเข้าไปทางโรงเรียนเพื่อแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จัก และชักชวนโรงเรียนเข้าร่วมกิจกกรมกับยังยิ้ม บางครั้งกลุ่มยังยิ้มก็เข้าไปจัดกิจกรรมในโรงเรียน เมื่อครูและเด็กได้รู้จักและเปิดใจให้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็เริ่มสบายใจมากขึ้น เพราะสำหรับพ่อแม่แล้ว โรงเรียนเป็นสถานที่ที่พวกเขาให้ความไว้วางใจที่จะฝากลูกไว้ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองในฐานะคนในชุมชน เมื่อพูดต่อกันปากต่อปาก ประกอบกับเห็นผลงานของกลุ่มยังยิ้มตลอด 10 ปี ทำให้ปัจจุบัน คนในชุมชนไว้วางใจให้ลูกหลานมาเข้าร่วมกิจกรรมและอยู่กับกลุ่มยังยิ้มเสมอ
เป็นเรื่องปกติของการทำโครงการ คือการจัดการบัญชี เราจะต้องจัดการบัญชีให้เป็นระเบียบและเป็นไปตามหลักการและเงื่อนไขของแต่ละแหล่งทุน เช่น ต้องใช้ใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีในการเบิกจ่าย ซึ่งพื้นที่อำเภอแว้งที่เป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ ทำให้มีความยากอยู่บ้างในเรื่องการเบิกจ่าย เพราะการจับจ่ายใช้สอยบางอย่าง ร้านค้าไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้ จึงต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การเบิกค่าน้ำมัน ทีมงานต้องขับรถไปเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ในต่างอำเภอที่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้ เป็นต้น ซัมจึงมองว่าหากมีวิธีการที่เหมาะสมกับการทำงานในพื้นที่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอำเภอเล็กหรือห่างไกลเพียงใด น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากวันนี้ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ อุปสรรคหรือปัญหาที่เจอจะเป็นเหมือนอีกความท้าทายให้เราได้เรียนรู้การบริหารจัดการเหมือนเช่นปัญหาอื่นๆที่ผ่านเข้ามา เราเพียงแค่ปรับตัวและแก้ไขไปตามสถานการณ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลุมพรางที่อยากบอก
ซัมเพิ่งได้ค้นพบโลกของความจริงในโลกปัจจุบันว่ามีหลายอย่างที่จะต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง เช่น เราไม่สามารถบอกให้เด็กไปกอดต้นไม้เพื่อจะรักต้นไม้ได้ เพราะเด็กไม่รู้สึกจริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องสอนเด็กเรียนรู้การหุงข้าวจากหม้อสนามอีกต่อไปแล้วเมื่อเขามีหม้อหุงข้าว ซัมเคยเป็นหนึ่งคนที่คิดว่า “ทำไมเด็กเดี๋ยวนี้ติดมือถือ” แต่สุดท้ายซัมก็เรียนรู้ว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าตามโลกไม่ได้เลย หากเราไม่ยอมรับความจริง ซัมจึงเปลี่ยนจากการห้ามนำโทรศัพท์เข้ามาในค่าย เป็นคิดค้นกิจกรรมที่ทำให้มือถือซึ่งเด็กถือทุกวันได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น ถ่ายเปลือกต้นไม้ดูความแตกต่าง หรือ รู้จักพรรณไม้ผ่านการแสกนรูป เป็นต้น
ซัมบอกถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านงานของกลุ่มยังยิ้มที่พาไปเรียนรู้ธรรมชาติและวัฒนธรรมว่าให้ทำพื้นที่ของเราให้ดียิ่งขึ้น เติมเต็มให้ชุมชน โดยไม่ละเลยสิ่งดีงามที่ชุมชนมีอยู่