Feel Trip พาทุกคนออกเดินทางและเปิดโอกาสให้เรียนรู้ทุกสิ่งที่อยากจะรู้ เพราะ เราทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์
จุดเริ่มต้นของ Feel Trip
การทำงานวิจัยสมัยเรียนเรื่องคนขายพวงมาลัยและงานวิจัยการค้ามนุษย์ในลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงแรกเริ่มทำงานทำให้ ตุ้ม อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ได้เห็นว่าโลกของการเรียนรู้กว้างกว่าในห้องเรียน มีหลายปัญหาที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น แต่มีอยู่จริงในสังคม ตุ้มจึงผันตัวไปเป็นนักข่าวในสำนักนโยบายของ ThaiPBS ด้วยความคาดหวังที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้คนผ่านการทำงานเชิงโครงสร้าง และในช่วงเวลานี้เอง ตุ้มได้เห็นว่าทุกปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีจุดร่วมเดียวกันคือปัญหาการศึกษา จึงกระโดดเข้ามาทำงานด้านการศึกษาทันที และได้เรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมมันเกิดขึ้นได้ หากเรามีพื้นที่และกระบวนการให้ผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งความคิด ความรู้ ความสามารถเข้ามาทำงานร่วมกัน
ตุ้มเริ่มต้นคิดกรอบข้อเสนอโครงการ ในชื่อ Storyteller in Journey เป็นต้นแบบแรก (Prototype) เกิดจากวิเคราะห์สถานการณ์การศึกษาว่า การศึกษาในระบบทำให้เด็กไม่สามารถจะมีความฝันได้อย่างเต็มที่ เพราะฝันมันถูกกรอบไว้ด้วยหลักการบางอย่างของการศึกษา เงินที่รัฐมีให้สำหรับการศึกษามีจำนวนเยอะมาก แต่มีเพียง 10% เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กโดยตรง ซึ่งโรงเรียนเป็นผู้ถือเงินนั้น ไม่ใช่ตัวเด็กเอง ตุ้มจึงเกิดคำถามว่า ในเมื่อเด็กเป็นเจ้าของเงินและการเรียนรู้ เหตุใดเด็กจึงไม่ได้รับสิทธิในการถือเงินหรือออกแบบการเรียนรู้ได้เอง
Storyteller in Journey จึงต้องการจะคืนอำนาจการถือเงินให้กับเด็ก เพื่อพิสูจน์ว่าถ้าเด็กคนหนึ่งมีอำนาจการจัดการภายใต้งบประมาณ เขาจะโลดแล่นไปในทิศทางที่เขาต้องการได้หรือไม่ โดยมีเงินตั้งต้นกองละ 3,000 บาท 20 กอง เปิดรับสมัครหาเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ชวนมาสร้างเมืองการศึกษาด้วยกัน ทุกคนที่เข้ามาก็จะได้ทำ Proposal เล็ก ๆ เป็นแผนการเรียนในรูปแบบของเรียงความ ไม่จำกัดหน้า เพื่อจะรับทุนไปทำการเรียนรู้ในรูปแบบของตัวเอง ยกตัวอย่างการเรียนรู้ เช่น เรียนรู้เรื่องผีในชุมชน นั่งรถไฟไปปัตตานีเพราะอยากรู้ว่าความรุนแรงมีอยู่จริงไหม เรียน visual note-taking หรือเรียนทำไอศกรีมปกากญอ เป็นต้น แล้วกลับมาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้ฟังการเรียนรู้ของตัวเอง จากนั้นชวนสมาชิกกลุ่ม Storyteller มาเป็นคณะทำงานตั้งต้น และเกิดเป็น Prototype ที่ 2 คือ ‘Feel Trip’ ซึ่งมีความเชื่อว่า “เราทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์” และเป็นโมเดลที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ก้าวต่อไปของ Feel Trip คือการทำให้องค์กรและเครือข่ายมีทักษะที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง สามารถเท่าทันและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เข้ามาได้
กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อให้การเรียนรู้นั้นเป็นของทุกคน เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์
Feel Trip มีความตั้งใจที่จะคืนอำนาจการศึกษาให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ผ่าน 3 กิจกรรม ดังนี้
- Feel Trip Workshop เป็นโมเดลทดลอง (Prototype) ในช่วงแรกของ Feel Trip พาคนรุ่นใหม่ไปเรียนรู้ในพื้นที่ของภาคีที่ตุ้มรู้จักตั้งแต่สมัยทำงานวิจัย เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน จากนั้นชวนให้ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมของตัวเอง โดยมีเงินทุนตั้งต้นให้คนละ 3,000 บาท
- Action Project เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ 2 ย่างเข้าปีที่ 3 ของ Feel Trip ซึ่งตรงกับช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด เมื่อไม่สามารถพาผู้คนจำนวนมากท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ จึงชวนผู้คนทำโปรเจกต์การเรียนรู้ในพื้นที่ของตัวเอง ให้ทุกคนออกแบบการเรียนรู้เอง ใช้เวลา 2-3 เดือน ในการเข้าร่วมกิจกรรม
- Creative Trial พาผู้คนไปเดินในเมืองระหว่างการระบาดของโควิด-19 ที่มีการเปิดเมืองช่วงสั้น ๆ ชวนให้เรียนรู้ สำรวจ ตรวจค้น ความเชื่อมโยงของตัวเองกับเมือง และออกแบบการเรียนรู้ของตัวเอง
อีกหนึ่งกิจกรรมของ Feel Trip ที่ช่วยสนับสนุนการสร้างพื้นที่เรียนรู้คือ Social Lab เปิด Workshop สำหรับบุคคลภายในและภาคีเครือข่าย มาเพิ่มเติมทักษะ เครื่องมือ ความรู้ และสานสัมพันธ์ระหว่างคนทำงาน
โดยทุกกิจกรรมของ Feel trip จะต้องประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ
- รู้จักตัวเอง ผู้เข้าร่วมค้นหาตัวเองให้เจอ สร้างพื้นที่ สร้างประสบการณ์ ให้เขาดึงศักยภาพมาใช้ ผ่านการทำโปรเจกต์
- เชื่อมโยงตัวเองกับชุมชน สังคม และโลก มองสังคมให้เห็นว่าเป็นอย่างไรจนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและรู้สึกเป็นเจ้าของ
- ออกแบบสร้างสรรค์ เมื่อรู้จักตัวเองและชุมชนแล้ว ให้ลงมือสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างตัวเองและชุมชน โดยจะเป็นโปรเจกต์รูปแบบใดก็ได้
- ถอดบทเรียน หลังจากออกแบบและดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์กับชุมชนแล้ว ต้องมีการถอดบทเรียนผ่านการสะท้อนความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
หนึ่งในโปรเจกต์ที่เกิดจาก Feel Trip และยังคงดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันคือ “แปลงผักนุ้ยนุ้ย” จ.กระบี่ โปรเจกต์นี้เกิดจาก โควิด-19 ที่เป็นเหตุทำให้พ่อแม่ของเด็กสูญเสียรายได้ เด็กบางคนต้องอดข้าวเพราะไม่มีเงิน
ครูตอ จินดาหรา ตาวัน เป็นคุณครูในชุมชนเห็นปัญหาจึงอยากทำพื้นที่ความมั่นคงให้เด็ก เกิดเป็นโปรเจกต์แปลงผักนุ้ยนุ้ย ด้วยการนำผักมาลงในพื้นที่ว่างหน้าบ้าน ชวนเด็ก ๆ มาปลูกผัก เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของเด็ก จนกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ ห้องเรียนสีเขียวให้เด็ก เด็กทั้งสนุกและเกิดความใคร่รู้เกี่ยวกับผักในพื้นที่ ครอบครัวของเด็กๆและโรงเรียนก็นำโมเดลแปลงผักนี้ไปใช้ จนสามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนได้
ในปีที่ 3 เด็ก ๆ ได้ไปสำรวจชุมชนว่านอกจากแปลงผักที่เห็นและปลูกด้วยกันใน 2 ปีแรก ชุมชนมีทรัพยากรอะไรอีกบ้าง เด็กได้เห็นการคั่วมะม่วงหิมพานต์โบราณ การทำเรือหัวโทง ประมง เกษตร จักสาน เด็กเชื่อมโยงทำแผนที่เดินดินและการเรียนรู้ของชุมชน ตุ้มเห็นโอกาสจัด Feel Trip Workshop ขึ้นอีกครั้งเพื่อพาคนไปเรียนรู้พื้นที่ของโปรเจกต์แปลงผักนุ้ยนุ้ย นายก อบต.มาอยู่เรียนรู้และลงมือทำกิจกรรมด้วยตลอดตั้งแต่เช้าถึงเย็น ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้มีส่วนร่วมกับเมืองได้ เมืองเปลี่ยนได้ ถ้าเราทำให้ส่วนต่าง ๆ ของเมืองมีความร่วมไม้ร่วมมือบางอย่าง โดยที่มีเด็กเป็นจุดคานงัด เด็ก ๆ เป็นคนพาผู้ใหญ่ไปเรียนรู้ ปัจจุบันแปลงผักนุ้ยนุ้ยเข้าสู่ปีที่ 4 และยังคงดำเนินการอย่างตั้งใจต่อไป
การมีแปลงผักนุ้ยนุ้ย และโปรเจกต์อื่นๆจากกิจกรรม Action Project ทำให้ Feel Trip มีพื้นที่เรียนรู้ในเครือข่ายของตัวเอง สามารถพาผู้คนไปเรียนรู้ในพื้นที่ในเครือ Feel Trip ได้ โดยไม่ต้องไปยังพื้นที่ภาคีเหมือนช่วงแรกอีก
บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้
การสร้างสรรค์งานของ Feel Trip มักจะเกิดจากการถอดบทเรียนของตุ้มและทีม เป็นการหยิบสิ่งที่ดี ข้อผิดพลาด และบทเรียนมาพัฒนาเป็นงานที่จะทำให้องค์กรแข็งแรงและอยู่ได้ด้วยตัวเอง
- พัฒนางานจากการแบ่งกลุ่มเป้าหมาย
- เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ตัวเอง ทำแผนการเรียนรู้ภายใต้เงิน 3,000 บาท
- คนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ แต่อยากไปทำงานในบางพื้นที่ มีโจทย์ของตัวเองไป เช่น สนใจตามหาผี เจ้านาย จ.เลย
- ครูรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม Feel Trip แล้วตั้งคำถามกับการสอนของตัวเองและเด็กของตัวเอง จึงอยากทำโปรเจกต์ในพื้นที่ของตัวเอง
- คนทั่วไป นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่ตั้งคำถามต่อการศึกษา อยากหาเสรีภาพหรือประสบการณ์บางอย่างที่มาเติมฝัน มีความตั้งใจและความพร้อมที่จะมาเข้าร่วมงานด้วยหากได้รับการพัฒนาทักษะมากขึ้น
- การเปลี่ยนความคิดเรื่องการศึกษาของผู้คน
- การเก็บข้อมูลและวัดผล
- ความต่อเนื่องของการเข้าร่วมกิจกรรม
- ตั้งเป้าหมายตามต้นทุนที่มี
ปลายปีที่ 2 เข้าสู่ ปีที่ 3 โควิด-19 เริ่มระบาด มีการปิดเมือง Feel Trip ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เหมือนเดิม โควิด-19 เป็นทั้งวิกฤตที่ต้องเผชิญ และเป็นโอกาสให้ Feel Trip ได้คิดงานใหม่เพื่อหาทางออกให้กับวิกกฤตนี้ โดยถอดบทเรียนในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงจัดกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับ Feel Trip ที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
เมื่อจำแนกกลุ่มเป้าหมาย ตุ้มและทีมจึงได้เห็นว่ามีพื้นที่จำนวนไม่น้อยเลยที่สามารถพัฒนาให้มาเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับการจัด Feel Trip จึงชวนสมาชิก Storyteller รุ่นแรกและผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นประจำมาทำโปรเจกต์ระยะเวลา 2-3 เดือน ในโปรแกรม Action Project เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่
ในการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งที่ยากที่สุดคือเปลี่ยนความคิดของคน ซึ่ง Feel Trip ต้องการสร้างวัฒนธรรมการศึกษาใหม่ ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง ช่วงแรก Feel Trip ต้องผ่านความล้มเหลวและช่วงเวลายากลำบากเพราะกิจกรรมไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้จะมีคนเข้าร่วมเยอะ แต่ผู้คนจำนวนมากยังติดอยู่กับการศึกษาแบบเดิม ที่มีคนบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง
ภายหลัง Feel Trip ใช้วิธีคิดว่าจะต้องพิจารณาในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะแม้คนจำนวนน้อยจะเข้าใจความเป็นอิสระที่มอบให้ แต่เป็นความเข้าใจที่เข้มข้น ลึกซึ้ง และสามารถต่อยอดเป็นโปรเจกต์สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต่าง ๆ ได้
Feel Trip ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลและวัดผลกิจกรรม โดยให้ผู้เข้าร่วมเขียนบอกเล่าโปรเจกต์ และ Reflection ของตัวเองบน Social Media แล้วติด Hashtag #feeltrip และ #ชื่อโปรเจกต์ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา ตุ้มและทีมจะอ่านโพสต์และดูภาพประกอบเพื่อวัดผลว่าประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร ได้ทำงานกับใครบ้าง เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมของแต่ละโปรเจกต์ได้รับความรู้และความสุขหรือไม่ และแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำโปรเจกต์ของตัวเอง พร้อมทั้งพิจารณาด้วยว่าพื้นที่นั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลและวัดผลที่ง่ายและแทบไม่ได้ใช้งบประมาณ พร้อมกับได้สื่อสารให้สาธารณะรู้จักไปพร้อมกันด้วย
มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ Feel Trip อย่างต่อเนื่อง บางคนเป็นสมาชิกตั้งแต่ Storyteller in Journey ปัจจุบันเข้ามาทำงานเป็นหนึ่งในแกนหลัก และบางคนก็มาเป็น Mentor ให้คนรุ่นต่อไป ซึ่ง Feel Trip สามารถรวบรวมกลุ่มคนเหล่านี้ให้ยังคงเชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่องได้เพราะ Feel Trip เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา ให้อิสระในการเรียนรู้แบบที่แต่ละคนไม่เคยได้รับมาก่อน ทำให้ตุ้มและทีมได้นิยามไว้ว่า “Feeltrip เป็นเหมือนแปลงผัก ให้เขาเติบโตเอง เราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา มอบความเชื่อใจให้กับเขา”
ปัจจุบัน Feel Trip มีอายุครบ 5 ปี และกำลังเติบโตมากขึ้น ตุ้มและทีมศึกษาต้นทุนที่มี คือเครือข่ายที่เหนียวแน่น ความรู้ในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ และเครื่องมือในการสื่อสารสาธารณะ เพื่อที่จะทำให้องค์กรมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายดังนี้
1. การจัดการทีมและองค์กรภายใน : ปัจจุบัน Feel Trip ทำงานเชื่อมโยงกับผู้คนในแนวระนาบ เรียกว่า Spider Web Network จึงต้องการทำให้เห็นชัดเจนว่าเครือข่ายนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและสื่อสารให้ภายนอกเข้าใจ เช่น กลไกการทำงานในพื้นที่ หรือ กลไกส่วนกลาง Feel Trip เป็นใคร อยู่ตำแหน่งไหน มีหน้าที่ทำอะไร เป็นต้น
2. กองทุน : เมื่อได้เงินทุนเพื่อทำโครงการจะแบ่งเงินออกเป็น 3 ก้อน คือ ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายทำกิจกรรม และการลงทุน ซึ่งจะเริ่มทดลองกุมภาพันธ์ 2566 นี้ หากมีเงินเข้ากองทุน Feel Trip จะสามารถดูแลสมาชิกได้ด้วยการมีสวัสดิการเครือข่าย ใช้ระบบสมาชิกและสมทบทุน 1:1 ให้มีปันผลกันต่อไปในระยะยาว
3. พื้นที่สื่อสาร : ปัจจุบัน Feel Trip มีช่องทางการสื่อสารคือ Facebook และ Youtube เพื่อบอกเล่าเรื่องโปรเจกต์และกิจกรรมต่าง ๆ แต่เพื่อให้มีช่องทางสื่อสารไปพร้อมกับมีช่องที่สามารถขายสินค้าและมีระบบสมาชิกได้ จึงจะเปิด Line Official ในปี 2566
หลุมพรางที่อยากบอก
Feel Trip ผ่านเส้นทางของความล้มเหลวในการพยายามเปลี่ยนความคิดของผู้คนเกี่ยวกับการศึกษา จนเกิดความสับสนและความรู้สึกท้อถอย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำงานสังคมอาจต้องเผชิญ แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่า “ถ้าเราลงแรงทำอะไรบางอย่าง ต่อให้ล้มเหลว ก็ได้เรียนรู้ว่าเราพยายามอย่างที่สุดแล้ว” สิ่งที่เราทำได้คือแก้ไข พัฒนา และเดินหน้าต่อไป
ปัจจุบัน โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก สังคมมีเครื่องมือใหม่ตลอดเวลา เพราะเฉพาะการเท่าทันการเรียนรู้ใหม่เป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับการมีชุดความคิดที่เป็นระบบเพื่อจะจัดการองค์กรให้เป็นระบบระเบียบเช่นกัน
สำหรับคนที่สนใจสร้างพื้นที่เรียนรู้ และอาจมีความกังวลใจ ตุ้มมอบคำแนะนำไว้เพื่อเป็นกำลังใจว่า “เราเองก็กลัว กลัวทุกครั้งที่มีอะไรใหม่เข้ามา แต่เราจะทำ อยากบอกน้อง ๆ ให้กลัวเลย ไม่มั่นใจก็ทำเลย แต่ขอให้มีโอกาสเปิดรับความท้าทายใหม่ ๆ และกระโดดลงไปในความท้าทายนั้น ให้มีโอกาสได้ลองทำบางอย่าง ถ้ามันล้มเหลวก็เรียนรู้มัน ถ้ามันสำเร็จ ดีงาม ก็ชื่นชม ชื่นใจ แล้วก็ไปต่อ เมื่อมันมีค่าต่อจิตใจของคุณ นี่แหละคือการเติบโตอย่างอกงามทางการศึกษา”
สุดท้าย ตุ้มฝากไว้ว่า "การทำพื้นที่เรียนรู้ ต้องวนกลับมาสู่การคิดว่าจะทำพื้นที่เรียนรู้แบบไหน อย่ายึดติดกรอบพื้นที่เรียนรู้สี่เหลี่ยม พื้นที่เรียนรู้อยู่ในใจเราได้เหมือนกัน การเดินทางของเรา เดินทางในใจก็พอแล้ว คือการพูดคุยและค้นหาตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเติบโต นอกจากนี้ตอบให้ได้ว่าเรามีเป้าหมายอะไรในการทำพื้นที่”