🤍

Life Education พื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้งอกงามจากภายใน

← Back to home

Life Education ทำงานด้านการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อสร้างความงอกงามในจิตใจของมนุษย์ พัฒนาความสัมพันธ์ในสังคม จากการต่อยอดองค์ความรู้ทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) พัฒนาเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้และสนับสนุนด้านงานวิจัย

image

จุดเริ่มต้นของ Life Education

ก่อนจะเริ่มทำ Life Education สมิต อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ กับ จูลี่ กัญจน์ณัฏฐ์ แซ่อึ้ง ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาก่อน ทำให้ได้เห็นปัญหาและรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายในสังคม สมิตมักจะตั้งคำถามกับตัวเองเวลาเห็นบริบทที่คนปฏิสัมพันธ์กัน ว่าทำไมพวกเขาจึงปฏิบัติต่อกันด้วยความรุนแรง และมันขาดอะไรที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันไม่ได้

ทั้งสองได้คำตอบจากการติดตามและเรียนรู้การทำงานของป้ามล ทิชา ณ นคร ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ตลอด 1 ปีเต็ม จนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแววตา พฤติกรรม และคำพูดของเด็กที่ผ่านเครื่องมือที่ไม่ใช้ความรุนแรง (Non-violent) และกระบวนการที่ไม่ให้เกิดภาวะที่ทำร้ายทำลายกัน และเกิดเป็นความเชื่ออย่างสนิทใจว่าการพัฒนาคนอย่างสร้างสรรค์นั้นสามารถสร้างความหมาย คุณค่า และการเปลี่ยนแปลงมากมายในตัวคน ๆ หนึ่งได้ และยังมีความสำคัญมาก ๆ ต่อสังคม  แถมยังมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) เป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานที่สามารถใช้วัดผลและพัฒนาต่อยอดอยู่ ขาดแต่นวัตกรรมที่จะหยิบองค์ความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ เมื่อรู้ดังนี้ จึงเกิดเป็น Passion ที่จะพัฒนามนุษย์จากภายใน

"อยากให้คนเข้าถึงจิตวิทยาเชิงบวกในการพัฒนาตัวเอง ลดภาวะป่วยด้านสุขภาพจิตและมีความสุข เพราะปัญหาสุขภาพจิตนั้นไม่สามารถไล่ตามแก้ไขได้อีกต่อไป แต่ต้องถูกฝึกและพัฒนาให้จิตใจแข็งแรง ทนต่อสิ่งที่เข้ามาได้มากพอ”

ในปี 2016 บริษัท Life Education จึงถูกตั้งเพื่อสร้างความงอกงามในใจของคนทุกวัย ซึ่งชื่อ Life Education ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก “วิชาชีวิตที่บ้านกาญจนาฯ ที่ป้ามลชวนเด็ก ๆ ในบ้านกาญจนาเรียนรู้ชีวิตของผู้อื่นและเรียนรู้จากคนที่แตกต่างจากตัวเอง

กระบวนการสร้างการเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมาย

Life Education มีกลุ่มเป้ามายหลักที่ทำงานด้วย คือ โรงเรียน องค์กรเอกชน พ่อแม่ กลุ่มเด็กเปราะบาง และคนทั่วไปที่ต้องการเข้าถึงเครื่องมือทางจิตวิทยาเชิงบวก โดยให้ 3 บริการแก่กลุ่มเป้าหมายในการเข้าถึงการเสริมสร้างทักษะชีวิต ได้แก่ การจัดทำองค์ความรู้และงานวิจัย (Research and Knowledge Management) ออกแบบหลักสูตรอบรม (Training) ในการเสริมสร้างทักษะชีวิต และพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือและเกม โดยบริการเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และในอนาคต Life Education กำลังจะมีพื้นที่เรียนรู้ที่จังหวัดลำปาง

กระบวนการสร้างการเรียนรู้ของ Life Education นั้นใช้แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกในการจัดการพื้นที่เดิมให้มีความหมาย คุณค่า และความสุขมากขึ้น กระบวนการที่สมิตและทีมทำมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเจอหน้างาน ชีวิตประจำวัน รวมถึงที่มาจากการค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตและจากข่าว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ของคน ความรุนแรง หรือการใช้อำนาจ
  2. ทำวิจัยเชิงปฏิการแบบมีส่วนร่วมเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โดยรวม เข้าใจปัญหา (Pain Point) ของกลุ่มเป้าหมาย และตั้งโจทย์ในการจัดการสถานการณ์นั้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะกลับไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วยและคนที่ช่วยตอบคำถามให้ข้อมูลกับทีมงานเป็นสำคัญ
  3. นำโจทย์ที่ได้มาค้นคว้าหาแนวคิดและวิธีแก้ไขที่มีอยู่แล้ว จากคลังวิจัยจิตวิทยาเชิงบวกและบนอินเทอร์เน็ต
  4. สร้างเครื่องมือจิตวิทยาเชิงบวก
  5. ที่มองเห็นและจับต้องได้ ด้วยการนำแนวคิดพื้นฐานมาประยุกต์ให้ตอบบริบทของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาวิธีใช้ให้เข้าไปเพิ่มความงอกงามจากภายในจิตใจมนุษย์โดยไม่สร้างภาระเพิ่ม เช่น ไม่ออกแบบกิจกรรมที่ต้องเป็นวิชาใหม่หรือเป็นความรู้นอกบทเรียนแต่ให้คุณครูสามารถใช้ในทุกคาบที่ครูสอนอยู่แล้ว เพื่อให้เน้นเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและสร้างประโยนช์ให้กับทั้งกระบวนกร ครู พี่เลี้ยง เจ้าหน้าที่ หรือพ่อแม่ รวมถึงเด็กเยาวชนให้เติบโตทางความคิดไปพร้อมกัน

  6. เริ่มกระบวนการตามแผนที่วางไว้
  7. หลังจากการออกแบบกระบวนการและเครื่องมือ ทีมงานก็เริ่มทำกระบวนการตามแผน ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ของ Life Education ใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เน้นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน นอกจากนี้จะมีการพูดคุยสัมภาษณ์ เพื่อขอความคิดเห็น (Feedback) และติดตามการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด

  8. การประเมินผลการเรียนรู้
  9. ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์นั้นงอกงามได้เรื่อย ๆ ไม่ได้หยุด เมื่อจบโครงการ ทีม Life Education จึงใช้การประเมินผลเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation) ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาทักษะและแนวคิด ซึ่งผู้ถูกประเมินก็สามารถนำผลประเมินไปปรับใช้ต่อได้ทันที ต่างจากการประเมินการจัดการโครงการแบบดั้งเดิม หรือ Summative Evaluation ที่มีการตัดสินคุณภาพผู้เรียนหลังจบโครงการ  และเมื่อได้ผลผลิต (Output) แล้วทีมงานจึงนำไปประเมินผลลัพธ์ (Outcome) การเปลี่ยนแปลงในด้านปฏิสัมพันธ์และชุดความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปว่าดีขึ้นหรือไม่

    image

บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้

  1. ถึงนวัตกรรมของเราจะกำลังแก้ไขปัญหาของเขา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจ
  2. เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำน่าจะมีประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายและสังคม แต่ในความจริง แม้จะเป็นกรอบแนวคิดจากต่างประเทศและมีกรณีตัวอย่างที่ดีแค่ไหน แต่การทำเรื่องใหม่ให้เป็นที่ยอมรับ หรือการชวนผู้อื่นทำด้วยกัน โดยเฉพาะกับเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้เข้าใจง่ายหรือออกมาเป็นรูปธรรมเสมอไป อย่างการใช้จิตวิทยาเชิงบวกที่จะออกผลหากได้ลองปฏิบัติด้วยตนเองระยะหนึ่ง ในแง่การทำงานขององค์กร ทีมก็ต้องสร้างหลักฐานออกมาช่วยอธิบายว่าทำอย่างไรและได้อะไร

  3. การลงพื้นที่ทำความเข้าใจคนจริง ๆ
  4. เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดเราไม่ควรที่จะเชื่องานวิจัย ข่าว คำบอกเล่าอย่างเดียวแล้วนำไปคิดต่อเลย แต่ต้องได้เห็นหลักฐานกับตัวเอง และจึงค่อยนำไปทำงานต่อ เพราะสิ่งที่เรากำลังจะทำคือการทำให้มนุษย์งอกงามขึ้น ดังนั้น ความงอกงามจะเกิดไม่ได้เลยและเราจะไม่มีความมั่นใจในสิ่งที่เราทำเลย หากเราไม่ได้คุยกับมนุษย์ ได้นั่งด้วยกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ไปขอรับคำแนะนำ สิ่งที่เราทำและเรียนรู้จะมีคุณค่าต่อเมื่อเราปฏิบัติกับมัน แล้วเราก็จะได้เติบโตกับสิ่งที่เราทำไปด้วย

  5. การทำเรื่องใหม่บางครั้งต้องลงทำก่อนจึงจะได้ความชัดเจน
  6. เมื่อสะสมประสบการณ์มาในระดับหนึ่ง เราจะรู้ว่าควรทำอะไรเพิ่มในการปิดช่องว่างของปัญหาที่เรากำลังแก้ ซึ่งทีมก็ต้องการจะคิดโครงการให้เห็นทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) แต่บางครั้งในการทำเรื่องใหม่ เราอาจจะยังไม่มีคำมาอธิบายอย่างชัดเจนว่าเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงอะไร แก่นของกิจกรรมนี้คืออะไร หรือว่าข้อมูลไหนเป็นจุดคานงัดของเรา สมิตมองว่าเมื่อพบสถานการณ์แบบนี้ เราอาจจะต้องลองทำไปก่อน บางคำตอบเราอาจจะแค่ลองทำ 1 ครั้ง (แต่ละโครงการของ Life Education มักใช้เวลาอย่างต่ำ 6 เดือน) บางคำตอบก็อาจจะต้องลองทำหลายโครงการจึงจะสามารถกระเทาะจนได้คำตอบว่าเรากำลังสร้างอะไรอยู่ อย่างโครงการ Famskool ก็ใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะได้ประโยคที่เอาไว้ใช้อธิบายภาพความสำเร็จที่ชัดเจนได้ว่าเป้าประสงค์คือ “การสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกใน Ecosystem ของโรงเรียน” และเมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว ทีมก็นำไปพัฒนางาน สื่อสาร รวมถึงใช้ขอทุนได้อย่างมั่นใจ

  7. ทีมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด
  8. ด้วยหัวใจของ Life Education ที่มีการเรียนรู้ตลอด สมิตจึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของทีมงาน โดยมี ปรัชญาองค์กรว่า “Better Everyday” ซึ่งคำว่า ‘ดีขึ้น’ ของ Life Education นั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลงานแต่เป็นการเรียนและการพัฒนาตัวเองด้วยจิตวิทยาเชิงบวกของสมาชิกทีมแต่ละคน เนื่องจากสมิตและจูลี่มองว่าโจทย์ทางสังคมนั้นมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราทุกคนจะต้องพร้อมต่อสู้กับมัน ไม่ใช่แค่กลุ่มเป้าหมาย

หลุมพรางที่อยากบอก

สมิตมองว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงมี 2 องค์ประกอบ คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง และ ผู้ที่สนใจร่วมด้วย จาก 2 องค์ประกอบอย่างนี้ทำให้สมิตเห็นหลุมพรางที่สำคัญ คือ ทัศนคติของการเป็น ‘ผู้ให้’ โดยเฉพาะเวลาที่ทำงานกับกลุ่มคนที่ขาดโอกาส ที่เจ้าของโครงการหลายโครงการอาจคิดว่า เหตุผลที่กลุ่มเป้าหมายไม่ร่วมด้วยเป็นเพราะพวกเขาขาดโอกาสจึงไม่มีความรู้ ทำให้โครงการของตนไม่เกิดผลเสียที คิดเอาเองว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แน่ ๆ เพียงแค่คนอื่นไม่เข้าใจ ซึ่งสำหรับสมิต การสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่เป็นการช่วยกัน เรียนรู้จากกันและกัน การที่เราทำงานช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายก็บรรเทาลง ส่วนผู้ทำก็ได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ไปด้วย  และหากของของเรานั้นดีจริง ๆ ผู้อื่นย่อมจะสนใจและเข้าร่วม หากเรายังทำให้ผู้อื่นสนใจไม่ได้ เราจะต้องทบทวนว่าแท้จริงแล้วเรากำลังติดที่จุดไหนและแก้ให้ตรงจุดไป

นอกจากหลุมพรางการเป็นผู้ให้ข้างต้นที่ทำให้คิดเองเออเองแล้ว อีกหลุมพรางที่ใหญ่มาก ๆ ของการเป็นผู้ให้คือการคิดว่าเราเป็นผู้รู้-ผู้ให้ ที่กำลังทำงานกับ ผู้ไม่รู้-ผู้ที่ขาดโอกาส เราจึงสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้ อาจจะไม่เตรียมตัวเตรียมงานมาอย่างดีที่สุด ด้วยเหตุผลว่าดีไม่ดีอย่างไรเขาไม่รู้ ไม่มีสิทธิจะว่าอะไร หรือ ที่เราให้ก็ดีกว่าที่เขาเคยได้มาแน่นอน (เพราะเขาไม่เคยได้โอกาสอะไรเลย) หลุมพรางนี้จะทำให้เราทำงานอย่างไม่ยั่งยืนและไม่เกิดผลระยะยาว

สุดท้าย ทีมงานเราขอให้สมิตฝากคำแนะนำให้กับทุกท่านที่ต้องการทำพื้นที่เรียนรู้ สมิตมองว่าเราจะต้องชัดเจนในตัวเองก่อนว่าอะไรที่ต้องการจะให้เกิดขึ้น สร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อสร้างประโยชน์อะไรให้กับกลุ่มเป้าหมายใด ถ้าวันนี้ทำไม่ได้ ต้องหาทางทำให้ได้ เพราะฉะนั้นการมี Passion หรืออยากทำอย่างเดียวนั้นไม่พอ หากทำด้วยเป้าหมายทางสังคมที่ชัดเจน เราจะยั่งยืนกว่า วิ่งได้นานกว่า เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น

image

Related Content

📚
สิริเมืองพร้าว พื้นที่เรียนรู้ ดูแลชุมชน
🌏
สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ พื้นที่เรียนรู้ให้วัยรุ่นหมุนโลกด้วยตัวเอง
🌳
ให้ชุมชน วัฒนธรรมและป่าเป็นทุนของการเรียนรู้ กับบ้านไร่อุทัยยิ้ม
🥾
Feel Trip พื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
🕊️
พาเด็กและเยาวชนไปรู้จักและรักแว้ง กับกลุ่มยังยิ้ม
🎸
คลองเตยดีจัง พื้นที่พัฒนาทักษะสู่อนาคตที่สดใส
🍃
กลุ่มใบไม้ แหล่งติดตั้งสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน
🪢
พลังโจ๋ พื้นที่เรียนรู้ของเด็กหลังห้อง
🧸
โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ พื้นที่พัฒนาทักษะผ่านการเล่น
🤍
Life Education พื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้งอกงามจากภายใน