Assumption Mapping เลือกสมมติฐาน หาจุดตั้งต้นการทดสอบ

image

Assumption Mapping คืออะไร

หลังจากที่เราได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาปัญหา ไปจนสร้างสรรค์ไอเดียออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไป เราจึงควรทดสอบไอเดียนั้นๆ แบบเร็วๆ ลงทุนน้อยๆ กันก่อน เพราะปัญหาสังคมนั้นซับซ้อน หนึ่งปัญหาอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยไอเดียเดียว อาจจะต้องทำหลายอย่างและใช้เวลานานกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและยั่งยืน และด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทุน หรือแรงของเราเอง ก่อนที่เราจะกระโดดลงไปทำนั้น เรามาหยุดทบทวนกันสักนิด ว่า เป้าหมายและสมมติฐานที่เลือกจะเป็น “จุดตั้งต้น” ในการทดสอบไอเดียของเรา ผลการทดสอบไอเดียจะบ่งชี้แน่ชัดว่า ไอเดียที่เรากำลังจะลองทำ เราต้องการเรียนรู้หรือพิสูจน์สมมติฐานอะไร เพื่อป้องกันการตั้งเป้าหมายหรือสมมติฐานที่ใหญ่เกินไป หรือเล็กเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับไอเดียของเรา ที่อาจจะทำให้เราหลงทางได้

เป้าหมายและสมมติฐานที่เราเลือกจะเป็น “จุดตั้งต้น” ในการทดสอบไอเดียของเรา และผลการทดสอบไอเดียนั้นก็จะช่วยเป็นข้อมูลให้เราชี้ชัดได้มากขึ้นว่าเราควรทำอย่างไรต่อไป เครื่องมือ Assumption Mapping จะช่วยให้เราได้เปลี่ยนไอเดียที่ยังลอยอยู่ออกมาเป็นหลากหลายสมมติฐาน จัดเรียงประเด็น และเลือกสมมติฐานที่เหมาะกับการตั้งต้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงของเรา

ขั้นตอนการเขียน Assumption Mapping

ดาวน์โหลด Worksheet ได้ที่นี่

1. ทบทวนโจทย์

เริ่มจากการทบทวนก่อนว่า ไอเดียแก้ไขปัญหาของเราคืออะไร และเป้าหมายหรือความต้องการของเราคืออะไร เพื่อเป็นจุดตั้งตั้นในการคิดสมมติฐาน

ตัวอย่าง:

image

2. เขียนสมมติฐาน

เขียนสมมติฐานออกมาให้ได้มากที่สุด ถ้าสมมติฐานข้อไหนที่เรายังไม่มั่นใจหรือยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง เราควรเริ่มต้นประโยคด้วย “เราเชื่อว่า…” เพื่อเน้นย้ำว่าสมมติฐานนี้คือสิ่งที่เราคิดและเชื่อเอง ซึ่งผลการทดลองอาจจะบอกเราว่าสมมติฐานเหล่านี้อาจไม่เป็นจริงเลยก็ได้ ถึงตอนนั้น เราก็สามารถกลับมาทบทวน คิดและเรียบเรียงสมมติฐานใหม่ได้

ตัวช่วยในการตั้งสมมติฐาน

ในการตั้งสมมติฐาน ลองถามตัวเองดูว่า “อะไรบ้างที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ไอเดียของเราประสบความสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้” หากนึกไม่ออก เราสามารถคิดสมมติฐานออกมาตามประเด็นเล็กๆ ได้ เช่น สมมติฐานเกี่ยวกับเป้าหมาย สมมติฐานเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย สมมติฐานเกี่ยวกับวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และ สมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของไอเดีย เป็นต้น

ตัวอย่าง:

สมมติฐานเกี่ยวกับเป้าหมาย

  • เราเชื่อว่า ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ จะนำไปสู่การพูดคุยกันในครอบครัว
  • เราเชื่อว่า ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ จะทำให้ผู้ปกครองและเด็กมีวิธีการสื่อสารที่เข้าใจกัน
  • เราเชื่อว่า การพูดคุยกันในครอบครัว จะนำไปสู่การเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น

สมมติฐานเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย

  • ความคิดของเด็กและผู้ปกครองไม่ตรงกันเป็นเพราะช่องว่างระหว่างวัย
  • เด็กและผู้ปกครองขาดวิธีการสื่อสารที่จะทำให้เข้าใจตรงกัน
  • เด็กและผู้ปกครองมีความต้องการที่จะเข้าใจกันและกัน
  • เด็กรู้สึกกดดันและเครียด เพราะผู้ปกครองกดดันเรื่องเรียน
  • ในปัจจุบัน ยังไม่มีพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน
  • เราเชื่อว่าผู้ปกครองจะเป็นกลุ่มที่สนใจทำ ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ มากกว่าเด็ก
  • เราเชื่อว่า เด็กและผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกว่า 100 ครอบครัวจะสนใจทำ ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’

สมมติฐานเกี่ยวกับวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

  • ผู้ปกครองจะต้องมาประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนเทอมละ 1 ครั้ง
  • เราเชื่อว่าผู้ปกครองและเด็กจะเข้าถึง ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ ผ่านการประชุมผู้ปกครอง

สมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของไอเดีย

  • เราเชื่อว่า ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ จะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้แลกเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบกับคนในบ้าน ใช้กระดานติดตามงาน พูดคุยสรุปผลและแลกเปลี่ยนความรู้สึกเมื่อจบสัปดาห์ได้จริง

จะเห็นได้ว่าเพียงไอเดียเดียว ก็สามารถมีสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังไอเดียนั้นได้เยอะมากมาย

3. วาดกราฟ 2 ช่อง x 2 ช่อง

เมื่อเราได้สมมติฐานแล้วจำนวนหนึ่ง ก็ถึงขึ้นตอนที่จะจำแนกข้อมูลด้วยกราฟ 2 X 2 โดยกราฟของเรานั้น จะมี 2 แกน คือ แกน x สำหรับพล็อตสมมติฐานที่ “มีข้อมูลอ้างอิง” ไปถึง “ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง” และ แกน y สำหรับพล็อตสมมติฐานที่ “เป็นข้อมูลที่สำคัญ” ไปสู่ “เป็นข้อมูลที่ไม่สำคัญ”

image
  • สมมติฐานที่สำคัญ คือ สมมติฐานที่หากทดลองแล้วผลออกมาไม่เป็นตามที่คิด จะทำให้เราต้องเปลี่ยนไอเดียที่คิดมาทั้งหมด
  • สมมติฐานที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิง คือ สมมติฐานที่ไม่เคยมีใครเคยทดลองไอเดียแบบนี้กับกลุ่มเป้าหมายนี้มาก่อน หรือไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่ชี้ชัดได้ ทำให้ไม่มีใครเคยรู้ว่าทดลองออกมาแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร

4. พล็อตสมมติฐานลงกราฟ

ตามภาพ เราจะเห็นว่า ในกราฟมีช่องว่างทั้งหมด 4 ช่อง ได้แก่

  1. สมมติฐานที่มีข้อมูลอ้างอิง และเป็นข้อมูลที่สำคัญ
  2. สมมติฐานที่มีข้อมูลอ้างอิง แต่เป็นข้อมูลที่ไม่สำคัญ
  3. สมมติฐานที่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง และเป็นข้อมูลที่ไม่ได้สำคัญ
  4. สมมติฐานที่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง และเป็นข้อมูลที่สำคัญ
image
image

5. เลือกสมมติฐานมาทดสอบไอเดียเพียง 1 สมมติฐาน

ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทุน และแรงทำงานของเรา เราควรเลือกสมมติฐานเพียงข้อเดียวในการทดสอบไอเดีย เราจะได้มีจุดมุ่งหมายหลักในการทดลองที่ตรงประเด็น ดังนั้น ช่องที่ 4 คือช่องที่เราควรเลือกสมมติฐาน ไปทดสอบ เพราะเป็นช่องที่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง และข้อมูลในช่องนี้นั้นมีความสำคัญเพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อไอเดียมากที่สุด

การเลือกสมมติฐานเพียงข้อเดียวไปทดลอง หรือเลือกโฟกัสหลัก สามารถเป็นเรื่องยากที่ต้องตัดใจทำ เพราะเราต่างก็ต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด แต่การเลือกโฟกัสทำและเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจะไม่ทำให้เราวอกแวกหรือหลงทางได้ง่าย และหากการทดลองไม่เป็นผลตามคาดก็จะช่วยให้ทีมรู้ง่ายขึ้นว่าเกิดจากปัจจัยใด

เมื่อเลือก 1 สมมติฐานที่ต้องการพิสูจน์ได้แล้ว ลองใส่รายละเอียดเพื่อชี้ชัดว่า ไอเดียนี้จะสำเร็จหรือไม่ เราจะวัดจากการเปลี่ยนแปลงของอะไร อย่างเช่น วัดจากจำนวนคน พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป (กี่ครั้ง นานเท่าไหร่ต่อครั้ง) จำนวนรายได้ เปอร์เซ็นต์ความพึงพอใจ เป็นต้น

เช่นเดียวกับการเลือกโฟกัส การใส่ตัวชี้วัดก็อาจเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะมาจากความต้องการที่จะทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ ความคาดหวังในตัวเอง ความรักในไอเดียของเรา จนหลายๆ ครั้งก็เผลออะลุ่มอล่วยให้ตัวเอง หรือกระทั่งคิดเองเออว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่อย่าลืมว่าเราเองจะเป็นผู้ที่ตั้งตัวชี้วัดเหล่านี้ และจะได้เรียนรู้จากผลการทดลอง สุดท้าย หากไม่เป็นไปตามคาด เราก็กลับมาทบทวนและปรับเปลี่ยน ลดหรือเพิ่มตัวชี้วัดได้เช่นกัน

ตัวอย่าง:

image

เมื่อได้สมมติฐานแล้ว ก็ลองทบทวนไอเดียและโจทย์อีกทีว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีหรือไม่ และที่สำคัญ ทบทวนความรู้สึกของเราว่าตื่นเต้นอยากรู้หรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

สมมติฐานที่มีตัวชี้วัดจะสามารถนำไปต่อยอดใช้ในการประเมินกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายด้วย เป็นอีกข้อดีของการตั้งสมมติฐานให้ได้ดี ทำให้เราก็ไม่ต้องทำงานเดิมซ้ำๆ

Troubleshooting – ทำอย่างไรเมื่อไอเดียและสมมติฐานที่เราเลือกไม่สอดคล้องกัน

เมื่อเราลองลงมือทดสอบไอเดียของ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากเราจะพบว่า ไอเดียของเราและสมมติฐานที่เราลือกไม่สอดคล้องกัน เพราะสมมติฐานที่เราเลือกเป็นสมมติฐานที่ยังไม่มีใครเคยลองพิสูจน์ เช่นเดียวกับไอเดียของเราก็ยังไม่เคยได้รับการทดสอบ ดังนั้น เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ เรามีทางเลือกที่สามารถเลือกได้ ได้แก่

  1. คิดไอเดียใหม่ ใช้สมมติฐานเดิม
  2. เปลี่ยนสมมติฐานใหม่ ใช้ไอเดียเดิม
  3. คิดทั้งไอเดียใหม่และสมมติฐานใหม่

อ้างอิง

  1. Bland, David J. (2020). How Assumptions Mapping Can Focus Your Teams On Running Experiments That Matter. Retrieved July 1st, 2022, from https://www.strategyzer.com/blog/how-assumptions-mapping-can-focus-your-teams-on-running-experiments-that-matter
  2. mike. (2021). How To Solve Customer Problems: Part 3 of 5 — Identifying Your Riskiest Assumptions. Retrieved July 1st, 2022, from https://productcoalition.com/how-to-define-customer-problems-part-3-of-5-identifying-your-riskiest-assumptions-1a3b264de46f
  3. Schoups, Annelise. (2017). How to Look Before You Leap: A Guide to Mapping Assumptions for Product Development Teams. Retrieved July 1st, 2022, from https://mural.co/blog/how-to-look-before-you-leap-a-guide-to-mapping-assumptions-for-product-development-teams

เรียนรู้เครื่องมืออื่น ๆ ได้ที่…

Young Starters Toolkit
Coach for Change Toolkit
Insight to Prototype Toolkit
Starting Your SE Toolkit
Insight Tanks Toolkit
Theory of Change ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง
Assumption Mapping เลือกสมมติฐาน หาจุดตั้งต้นการทดสอบ
Dream it Do it!!! เมื่อเราเห็นปัญหาสังคมแล้วอยากลุกขึ้นมาเริ่มลงมือทำ
Impact Value Chain (IVC) เครื่องมือช่วยมองภาพรวมการแก้ปัญหา
How Might We คืออะไรและเขียนอย่างไร