Impact Value Chain (IVC) เครื่องมือช่วยมองภาพรวมการแก้ปัญหา

image

สำหรับโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมที่เดินทางมาถึงขั้นตอนการเตรียมลงมือทำ Prototype เพื่อทดสอบโมเดลทางสังคม (Social Model) ของตนเองแล้ว เราอาจจะพบกับข้อจำกัดของเวลาและทรัพยากร เช่น มีกิจกรรมที่อยากทำหลายอย่าง จะเลือกทำสิ่งใดก่อนดี หรือวิธีการวัดผลลัพธ์ที่เกิดจากโมเดลทางสังคมของเรา ควรวัดผลแบบไหนและใช้ตัวชี้วัดอะไรได้บ้าง

Impact Value Chain หรือ IVC (ห่วงโซ่ผลลัพธ์) เป็นเครื่องมือช่วยสรุปภาพรวมที่แสดงความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ในการดำเนินงานของโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย กิจกรรมหลักของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคม (Activities) ทรัพยากรที่ใช้ในการทำกิจกรรม (Inputs)  ผลผลิตระยะสั้นที่เกิดจากการทำกิจกรรม (Outputs) และในระยะยาวเมื่อเราสร้างผลผลิตอย่างต่อเนื่อง จะเกิดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไรบ้าง (Outcomes)

ข้อดีของการทำ Impact Value Chain

  • ช่วยให้โครงการหรือกิจการมองเห็นภาพรวมและเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ทรัพยากร กิจกรรมที่ทำ ผลลัพธ์ และผลผลิต เป็นภาพเดียว สามารถสื่อสารได้เข้าใจง่าย และตรงกันทั้งคนในทีม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นๆ
  • ได้ตรวจสอบตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผลของโครงการ เช่น สมมติเราต้องการช่วยเหลือเด็กยากไร้ให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ทำโครงการต่างๆ ใช้เงิน 50,000 บาทผลิตเสื้อยืดเพื่อขายได้เงินมาหักค่าใช้จ่ายแล้วนำไปให้น้องๆ จบโครงการสามารถช่วยเหลือเด็กได้ทั้งหมด 10 คน คนละ 5,000 บาท เราจะพบว่า จริงๆ แล้ว ไม่ต้องทำกิจกรรมใดๆ เอาเงิน 50,000 บาทแบ่งให้เด็ก 10 คนไปเลยแต่แรก ก็ได้ผลลัพธ์เท่ากัน
  • ช่วยให้เราวางแผนล่วงหน้า ออกแบบวิธีการในการเก็บข้อมูลผลผลิต/ผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบสอบถาม หรืออื่นๆ หากไม่ได้คิดเอาไว้ บางครั้งทำโครงการเสร็จไปแล้ว อาจจะไม่สามารถตามไปเก็บข้อมูลย้อนหลังได้
  • ได้เห็นผลลัพธ์และผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมชัดเจน โดยบางกิจกรรมอาจจะไม่เกิดผลผลิต/ผลลัพธ์ที่เราต้องการ และช่วยให้ประเมินได้ว่า เราควรจะทำกิจกรรมนั้นๆ ต่อไปหรือไม่ หรือควรปรับอย่างไร

การเตรียมตัว

  • ดาวน์โหลดฟอร์ม Impact Value Chain จาก IVC Worksheet หรือใช้กระดาษ A4, A3 ขีดเส้นแนวตั้ง 3 เส้น แบ่งออกเป็น 4 ช่องตามตัวอย่างจากรูปภาพ IVC Worksheet
  • อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ดินสอ สีไม้หรือปากกาเมจิกสี
  • ข้อแนะนำ เราสามารถเขียนข้อมูลลงในกระดาษ Post-it ขนาดเล็กแทนการเขียนลงไปใน Worksheet จะช่วยให้เราสามารถย้ายตำแหน่ง เพิ่มความสะดวกในการจัดเรียงข้อมูลได้ เนื่องจากเมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้วอาจจะพบว่ากิจกรรมบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับผลลัพธ์ (Outcome) ที่เราตั้งไว้ อาจจะมีการตัดออก หรือมีการเปลี่ยนผลผลิตให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ เป็นต้น
image

Let’s do it (30-60 นาที)

1. Outcomes > 2. Outputs > 3. Activities > 4. Inputs

Step 1 “Outcomes” ผลลัพธ์

ระบุผลลัพธ์ทางสังคมที่เราตั้งใจอยากสร้างให้เกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้วผลลัพธ์มักเป็นภาพความสำเร็จที่เราอยากเห็น ถ้าเราแก้ไขปัญหานั้นสำเร็จ (Vision) เป็นเป้าหมายระยะยาวของการทำโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมนั้นๆ เพราะการเกิดผลลัพธ์ทางสังคมมักจะใช้เวลานานหลายปี และต้องเกิดจากการที่เราสะสมผลผลิต (Outputs) อย่างเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

ตัวอย่าง

  1. โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ“ชุมชนมีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ”
  2. โครงการพลังชุมชนบ้านบ่อสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ“เกิดความความสามัคคีระหว่างคนในชุมชนบ้านบ่อ”
  3. โครงการ Sex Education มีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ“เยาวชนมีความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”

ข้อแนะนำ: หากโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมเคยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Theory of Change (TOC) มาแล้ว Outcome จะเป็นคำตอบเดียวกันกับในช่องของ Goal หรือ Vision ซึ่งเป้าหมายที่ดีเมื่ออ่านแล้วสามารถเห็นภาพชัดเจน หรือมีคุณสมบัติของ S.M.A.R.T Goal (Specific เฉพาะเจาะจง, Measurable วัดผลได้, Attenable ไม่เกินกำลังที่จะทำได้จริง, Relevant มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโดยตรง, Timely ระบุระยะเวลาชัดเจน)

Step 2 “Outputs” ผลผลิต หรือ ตัวชี้วัด

ระบุผลผลิตที่หากเราจะสร้างผลลัพธ์ (Outcomes) ที่อยากเห็นแล้ว ต้องมีผลผลิตอะไรบ้างที่เกิดขึ้น ผลผลิตที่อยู่ใน Impact Value Chain ควรจะ

  • มีความสอดคล้อง นำไปสู่การเกิดผลลัพธ์ทางสังคมนั้นด้วย
  • เป็นข้อมูลเชิงรูปธรรม สามารถวัดปริมาณได้ มีหน่วยวัดผลชัดเจน คำนวณได้โดยตรง ดังนั้นเราควรคำนึงถึงวิธีการวัดผลเช่นกันว่าจะเก็บเป็นปริมาณได้อย่างไร ควรใช้ตัวชี้วัดอะไร สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมหลัก (Activities) ของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคมนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
  • อาจเกิดจากผลผลิตหลายตัวประกอบกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

ตัวอย่าง

  1. โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีผลผลิตที่ต้องการวัดผล คือ“จำนวนเวลาที่ใช้ในการแยกขยะของเจ้าหน้าที่” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนเวลาที่ใช้ลดลง)“จำนวนครัวเรือนที่มีการแยกขยะ” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนครัวเรือนที่มีการแยกขยะมากขึ้น)
  2. โครงการพลังชุมชนสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีผลผลิตที่ต้องการวัดผล คือ“จำนวนเวลาในการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกชุมชน” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนเวลาที่ใช้มากขึ้น)“จำนวนสมาชิกชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ด้วยความสมัครใจ” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น)“ความพึงพอใจของชาวบ้านที่มาร่วมทำกิจกรรม” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ ชาวบ้านที่มาร่วมทำกิจกรรมเกิน 80% มีความพอใจในระดับ 4 เต็ม 5)
  3. โครงการ Sex Education มีผลผลิตที่ต้องการวัดผล คือ“คะแนนจากแบบทดสอบความรู้เรื่องเพศศึกษา” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ คะแนนดีขึ้น)“จำนวนเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนเด็กวัยรุ่นเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลง

ข้อแนะนำ: หากไม่แน่ใจว่าสิ่งใดคือผลผลิต (Outputs) สิ่งใดคือผลลัพธ์ (Outcomes) ให้คำนึงไว้ว่าผลลัพธ์จะเกิดจากความพยายามที่เราสร้างผลผลิตให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผลผลิตเกิดหลังจากที่เราดำเนินกิจกรรมหลัก สิ่งที่ออกมาสามารถมองเห็น วัดผลได้ เช่น หากเราทำกิจกรรมสอนเรื่องการแยกขยะให้กับคนในชุมชน ผลผลิตที่เกิดขึ้นคือจำนวนครัวเรือนในชุมชนมีการแยกขยะมากขึ้น ปริมาณขยะที่ถูกแยกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากแต่ละครัวเรือนมีการแยกขยะอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจะเกิดชุมชนที่มีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

เมื่อเขียนผลผลิตและผลลัพธ์ เราควรอ่านและตั้งคำถามว่า ผลผลิตที่เราผลิตได้นั้น นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ “ทางตรง” หรือไม่?

ตัวอย่าง

โครงการ Sex Educationมีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ “เยาวชนมีความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”มีผลผลิตที่ต้องการวัดผลระยะสั้น คือ “จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วมฟังบรรยายความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”

คำแนะนำ: ลองตั้งคำถามว่า จำนวนการผู้เข้าร่วมสามารถเป็นตัวชี้วัดสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เราต้องการหรือไม่ การที่เยาวชนเข้าร่วมฟังบรรยาย สามารถใช้บอกได้หรือไม่ว่าเยาวชนได้ความรู้กลับไปจริง หลายโครงการมักหยุดที่การวัดผลหลังจบกิจกรรม ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่ได้ความรู้ไปแล้วนั้น มีทักษะ และสามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดผลลัพธ์ที่เราต้องการหรือไม่ จึงควรมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพอีกตัว เช่น “จำนวนเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” เพื่อเป็นตัวชี้วัดว่า กลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย มีความรู้พื้นฐานจริง เป็นต้น

Step 3 “Activities” กิจกรรม

ระบุกิจกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างผลผลิต (Output) ที่เราต้องการ เราต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างเพื่อให้เกิดผลผลิตนั้นๆ สิ่งที่เราควรพิจารณาในการทำกิจกรรม คือ

  • ผลผลิต 1 ตัว อาจมาจากหลายกิจกรรมประกอบกัน
  • เมื่อวางแผนกิจกรรมหลัก เราควรวางแผนวิธีการวัดผลผลิตที่ต้องการด้วยว่าจะได้มาอย่างไร โดยกำหนดสิ่งที่จะใช้วัดผลให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
  • การเก็บผลผลิตที่ได้หลังจากการทำกิจกรรมอาจสามารถทำได้ทันที หรือ วางแผนตามเก็บเพิ่มเติมในระยะยาว การวางแผนไว้ล่วงหน้าจะทำเราให้เก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบางครั้ง หากเวลาล่วงเลยไป เราไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า อาจจะทำให้ข้อมูลผิดพลาด หรือไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง
  • หลายโครงการมีกิจกรรมจำนวนเยอะมาก หากพบว่ากิจกรรมใดที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่ต้องการ เราก็ควรจะตัดออก ทั้งนี้ อาจจะตัดออกตั้งแต่แรก ที่ไม่เห็นความสอดคล้องของ กิจกรรม -> ผลผลิต -> ผลลัพธ์ หรือ บางครั้งต้องทดลองทำ เพื่อวัด “ปริมาณ” ผลผลิตที่เราต้องการ แล้วพิจารณาความคุ้มค่าของทรัพยากร ไม่ว่าจะเวลา เงิน หรืออื่นๆ กับ ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่ได้ ก่อนพิจารณาตัดออก หรือเก็บไว้

ตัวอย่าง

  1. โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีกิจกรรมหลัก คือ“จัดสถานที่ตั้งถังขยะแบบแยกประเภทพร้อมคู่มือวิธีการใช้งานอย่างง่าย”“ทำเวิร์กชอปสอนเรื่องการแยกขยะให้กับสมาชิกในชุมชน”
  2. โครงการพลังชุมชนสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีกิจกรรมหลัก คือ“จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ให้สมาชิกในชุมชน”“จัดกิจกรรมชวนสมาชิกในชุมชนทำความสะอาดบริเวณริมคลองในชุมชน”
  3. โครงการ Sex Education มีกิจกรรมหลัก คือ“เปิดเพจรับปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ และทำเครือข่ายเพจที่เยาวชนมักจะเข้าไปส่งคำถามเรื่องเพศสัมพันธ์”“เผยแพร่ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบของการ์ตูนออนไลน์ สามารถเข้าอ่านได้ฟรี”“จัดทำแบบทดสอบความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”

Step 4 “Inputs”  ปัจจัยนำเข้า

ระบุทรัพยากรที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมหลักของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคมตัวอย่างเช่น เงินทุน ทีมงาน อุปกรณ์ สถานที่ ฯลฯ

คำแนะนำ: หากสามารถระบุได้ชัดเจนจะช่วยให้เห็นความสอดคล้องกับกิจกรรมมากขึ้น เช่น ทีมงาน กี่คน ใช้เวลาทำงานสัปดาห์ละกี่ชั่วโมง  เงินทุนที่ต้องใช้กี่บาท สถานที่ ใช้ทำอะไรบ้าง ประชุม จัดกิจกรรม

หวังว่า Impact Value Chain จะไม่ยากจนเกินไป หากมีคำถามหรือข้อสงสัย หรือกลับไปทำ IVC ของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคมของตนเองแล้วต้องการให้ทีมงานช่วยเสริมให้ดียิ่งขึ้น สามารถติดต่อมาได้ที่ [email protected]

เรียนรู้เครื่องมืออื่น ๆ ได้ที่…

Young Starters Toolkit
Coach for Change Toolkit
Insight to Prototype Toolkit
Starting Your SE Toolkit
Insight Tanks Toolkit
Theory of Change ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง
Assumption Mapping เลือกสมมติฐาน หาจุดตั้งต้นการทดสอบ
Dream it Do it!!! เมื่อเราเห็นปัญหาสังคมแล้วอยากลุกขึ้นมาเริ่มลงมือทำ
Impact Value Chain (IVC) เครื่องมือช่วยมองภาพรวมการแก้ปัญหา
How Might We คืออะไรและเขียนอย่างไร